คันหนังศีรษะ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น รังแค เหา เชื้อรา ซึ่งการรักษาอาการคันหนังศีรษะจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รวมทั้งการดูแลและทำความสะอาดหนังศีรษะให้สะอาดและสุขภาพดีอยู่เสมอ เช่น การสระผม การหลีกเลี่ยงแสงแดด
สาเหตุของอาการคันหนังศีรษะ
อาการคันหนังศีรษะ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-
รังแค
รังแค คือ เซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะซึ่งหลุดลอกออกมาเป็นขุยหรือสะเก็ดสีขาว มักพบบริเวณโคนผมหรือติดตามเส้นผม บางครั้งก่อให้เกิดอาการคัน หากเกาศีรษะ รังแคจะยิ่งกระจาย หรือยิ่งหลุดลอกมายิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม รังแคไม่ใช่อาการร้ายแรงและไม่ใช่อาการที่ติดต่อกันได้ แต่หากเป็นมากอาจทำให้เสียบุคลิกและทำให้สูญเสียความมั่นใจได้
สาเหตุของรังแค ประกอบด้วย
- หนังศีรษะมันหรือเกิดการระคายเคือง
- หนังศีรษะแห้ง
- เชื้อราบนหนังศีรษะ
- โรคผื่นระคายสัมผัส
- โรคผิวหนังอักเสบ
วิธีการรักษา
รังแครักษาได้ด้วยยาสระผมเฉพาะทาง เช่น ยาสระผมซึ่งมีส่วนผสมของของน้ำมันดิน (Tar) อันมีฤทธิ์ทำให้เซลล์ผิวหนังบนศีรษะตายและลอกออกมาเป็นรังแคช้าลง
นอกจากนี้ การดูแลตัวเองเพื่อแก้ปัญหารังแคที่ไม่รุนแรง อาจสามารถทำได้ดังนี้
- ว่านหางจระเข้ นำส่วนที่เป็นวุ้นมาขัดศีรษะก่อนสระผมด้วยแชมพู
- น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล นำมาผสมน้ำในอัตราส่วนเท่ากัน ชะโลมบนศีรษะ ทิ้งไว้ 15 แล้วล้างออก
- น้ำมันมะพร้าว 3-5 ช้อนชา ใช้หมักผมเป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้วล้างออก ก่อนใช้แชมพูสระผม
-
กลากที่หนังศีรษะ
โรคกลากที่หนังศีรษะ หรือ “ชันนะตุ” เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) บนหนังศีรษะ ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นวงแหวนบนหนังศีรษะ ตรงกลางเรียบและมีขอบนูน กลากที่หนังศีรษะส่งผลต่อทั้งหนังศีรษะและเส้นผม ทำให้เกิดอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือทำให้เกิดรังแค
โรคกลากที่หนังศีรษะติดต่อกันได้ด้วยการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว หมวก หมอน นอกจากนี้ คนที่มีภูมิต้านทานต่ำอาจมีอาการรุนแรงเป็นแผลพุพอง หรือมีตุ่มหนองได้ อาทิ ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
วิธีการรักษา
กลากที่หนังศีรษะ รักษาได้ด้วย
- รับประทานยาต้านเชื้อรา เช่น กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
- ใช้ยาสระผมเฉพาะ อันมีส่วนผสมของยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือยาซีเลเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)
-
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังซึ่งทำให้ผิวหนังบริเวณศีรษะ หน้าผาก ท้ายทอย หลังใบหู เป็นแผลผื่นแดงและตกสะเก็ดร่วมกับอาการคันหนังศีรษะ
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะยังไม่เป็นที่แน่ชัด คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างรวดเร็วและตกสะเก็ด
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ พบได้บ่อยในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะเป็นโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะร่วมด้วย
การรักษา
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
- ทาหรือฉีดสเตียรอยด์ บริเวณที่พบอาการของโรคโดยตรง วิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
- รับประทานยา คุณหมอจะจ่ายยารักษาให้ เช่น เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
- ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง เช่น โลชั่น น้ำมัน หรือยาสระผม ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันดิน กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เรตินอยด์ (Retinoids) แอนทราลิน (Anthralin)
- บำบัดด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) หรือการฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) เพื่อลดการแพร่กระจายของเซลล์ผิวที่ผิดปกติ
-
หิด
โรคหิด เกิดจากติดเชื้อจากตัวหิด ซึ่งเป็นไรประเภทหนึ่ง มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.4 มิลลิเมตร หิดมีลักษณะเป็นผื่นคล้ายสิวขึ้นตามลำตัว โดยอาการของโรคจะแสดงหลังจาก 4-8 สัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคหิดจะคันหนังศีรษะ รวมถึงบริเวณอื่นของลำตัว เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า รักแร้ อวัยวะเพศ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนเนื่องจากอากาศแห้ง ทั้งนี้ หิดสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน
การรักษา
ในการรักษาโรคหิด คุณหมอจะให้ผู้ป่วย
- ทาครีม ซึ่งใช้สำหรับรักษาโรคที่เกิดจากแมลงอาทิ เพอร์เมทริน (Permethrin) โครตาไมตอน (Crotamiton)
- รับประทานยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ในกรณีใช้ครีมไม่ได้ผล จะต้องรับประทานยา แต่ยาชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์งหรือเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 15 กิโลกรัม
-
เหา
เหา เป็นแมลงขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามเส้นผม และกินเลือดจากหนังศีรษะเป็นอาหาร หากโดนเหากัดครั้งแรก จะยังไม่รู้สึกคันหนังศีรษะ แต่จะรู้สึกคันหนังศีรษะหลังจากนั้นราว 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ เหาสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ด้วยการกระโดดหรือบิน เหามักพบบ่อยในเด็ก เพราะเด็กมักเล่นกันอย่างใกล้ชิดจึงทำให้ติดเหากันง่าย นอกจากนี้ เหายังแพร่กระจายได้จากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หมวก หูฟัง หวี หมอน ผ้าเช็ดตัว เหาวางไข่วันละ 6-9 ฟองต่อวัน ขณะเดียวกัน ตัวอ่อนจะใช้เวลา 9-12 วัน ในการฟักตัวจนกว่าจะโตเต็มที่
การรักษา
การรักษาเหา อาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- ใช้ยาสระผม อันมีส่วนผสมของไพรีทริน (Pyrethrin) หรือเพอร์เมทริน (Pyrethrin) ซึ่งเป็นยาที่ใช้กำจัดโรคซึ่งเกิดจากแมลง
- ทาหรือชโลมยาสำหรับใช้ภายนอก เช่น ยามาลาไทออน (Malathion) โดยใช้ถูกับเส้นผมและหนังศีรษะเพื่อกำจัดเหา
- รับประทานยา อาทิ ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) อันมีฤทธิ์ในการกำจัดปรสิต ในอัตรา 200 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว
- หวีผมด้วยหวีเสนียด หรือหวีซี่ถี่ ทุก ๆ 3-4 วัน เพื่อกำจัดเหาและป้องกันเหาวางไข่บนศีรษะ
การดูแลรักษาหนังศีรษะ
วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยลดอาการคันหนังศีรษะได้
- หลีกเลี่ยงการออกแดด เพื่อลดความเสี่ยงเป็นรังแค
- สระผมสม่ำเสมอ เพื่อลดความมันบนหนังศีรษะ ปัจจัยหนึ่งของการเกิดรังแค รวมทั้งเลือกใช้ยาสระผมที่อ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ
- งดใช้ของใช้ร่วมกัน เนื่องจากเป็นสาเหตุโรคเหา และทำความสะอาดของใช้ต่าง ๆ ด้วยแอลกอฮอล์หรือล้างน้ำร้อน
- เลือกรับการรักษาพร้อมกันทั้งครอบครัว ในกรณีพบบุคคลในครอบครัวมีเหาบนศีรษะ เพราะเป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ผิวหนังและเส้นผมแข็งแรง รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง
[embed-health-tool-heart-rate]