backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เหา อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

เหา อาการ สาเหตุ และการรักษา

เหา เป็นแมลงขนาดเล็ก กินเลือดจากหนังศีรษะเป็นอาหาร มักอาศัยอยู่บนหนังศีรษะหรือตามเส้นขนบนร่างกาย มักทำให้มีอาการคัน ผิวหนังเป็นแผลและติดเชื้อ เหาวางไข่ประมาณ 10 ฟอง/วัน ใช้เวลาเจริญเติบโตจนโตเต็มวัยประมาณ 12-14 วัน การกำจัดเหาทำได้ค่อนข้างยากและอาจกลับมาเป็นเหาซ้ำได้อีก อย่างไรก็ตาม การรักษาและการดูแลหนังศีรษะหรือผิวหนังอย่างถูกวิธีอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเหาได้

คำจำกัดความ

เหา คืออะไร

เหา คือ แมลงขนาดเล็กไม่มีปีก ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร อาศัยอยู่ตามเส้นผมหรือเส้นขนของมนุษย์ กินเลือดจากหนังศีรษะเป็นอาหาร สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากเด็กมักเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจึงทำให้เหาแพร่กระจายได้ง่าย เหาสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนหรือจากการใช้สิ่งของร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และกำจัดค่อนข้างยาก เพราะเหาเจริญเติบโตและวางไข่อย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการคันและระคายเคืองหนังศีรษะ การเกาหรือการถูกกัดอาจทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อได้

อาการ

อาการเมื่อเป็นเหา

ลักษณะของเหาและอาการเมื่อเป็นเหาที่พบบ่อย อาจมีดังนี้

  • รู้สึกคันหนังศีรษะ เนื่องจากน้ำลายของเหามีสารที่อาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ แต่อาการคันอาจไม่เกิดขึ้นทันที อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ ในช่วงแรกอาจแค่รู้สึกว่ามีอะไรเคลื่อนไหวอยู่บนศีรษะ
  • มีแผลที่หนังศีรษะ คอ และไหล่ หากเกาอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • รอยกัด อาจมีรอยกัดของเหาบนหนังศีรษะทำให้เกิดแผล
  • มีตัวเหาบนหนักศีรษะ ร่างกาย หรือขนบริเวณร่างกาย ซึ่งเหาอาจมีขนาดใหญ่เท่าเม็ดงา
  • ไข่เหาบนเส้นผม อาจหวีออกได้ยาก มีขนาดเล็กมาก ลักษณะคล้ายรังแค

สาเหตุ

สาเหตุเหา

เหาสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีเส้นขน พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 6-9 วัน ตัวเมียจะผลิตสารเหนียวเพื่อให้ไข่ยึดติดกับเส้นผมได้ และเหาจะกินเลือดมนุษย์เป็นอาหารซึ่งอาจทำลายหนังศีรษะ ทำให้มีอาการคันและเป็นแผล เหาไม่สามารถกระโดดหรือบินได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นเหาสามารถติดเหาได้จากการสัมผัสกับตัวเหาหรือไข่เหา ดังนี้

  • การติดต่อจากคนสู่คน เกิดขึ้นได้ในกรณีที่เด็กหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเหาอยู่ใกล้ชิดกันมาก จนอาจทำให้เหาติดต่อไปยังอีกคนได้
  • สิ่งของที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว เช่น เสื้อผ้า หูฟัง หวี เครื่องประดับผม ผ้าขนหนู ผ้าห่ม และหมอน ที่มีตัวเหาหรือไข่เหาเกาะอยู่ อาจทำให้ติดต่อได้
  • การติดต่อจากของใช้ภายในบ้าน เหาสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ประมาณ 1-2 วัน ดังนั้น การจัดเก็บสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่มีไข่เหาหรือตัวรวมกับสิ่งของหรือเสื้อผ้าตัวอื่น ๆ ภายในตู้เดียวกัน อาจทำให้เหาแพร่กระจายไปเกาะอยู่ตามสิ่งของชิ้นอื่น ๆ ได้

วงจรชีวิตเหา

เหามีอายุประมาณ 28 วัน แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ไข่เหา จะมีชีวิตรอดได้เมื่ออยู่บนหนังศีรษะ ไข่เหาจะฟักตัวประมาณ 6-9 วัน ไข่มีขนาดประมาณ 4-6 มิลลิเมตร
  • ลูกเหา มีขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และเจริญเติบโตกลายเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 7 วัน
  • เหาตัวเต็มวัย ไข่ที่ฟักใหม่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจะใช้เวลาประมาณ 12-14 วัน กลายเป็นตัวเต็มวัย และวางไข่ได้ถึง 10 ฟอง/วัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงเหา

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เหาแพร่กระจาย ดังนี้

  • พบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนและวัยเรียน
  • การเล่นกันอย่างใกล้ชิดของเด็ก
  • การใช้สิ่งของร่วมกัน

การรักษาและการวินิจฉัย

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ได้โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเหา

คุณหมออาจใช้แว่นขยายหรือใช้แสง Wood’s Light ที่เป็นแสงสีฟ้าเพื่อตรวจหาเหา ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นไข่เหาและตัวเหาขนาดเล็กได้ชัดเจนขึ้น

เหาบนหนังศีรษะ

การวินิจฉัยเหาสามารถทำได้เมื่อพบตัวเหาหรือไข่เหาตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป ในระยะ 6.4 มิลลิเมตรจากโคนผม หากอยู่ห่างกว่านั้นแสดงว่าตัวเหาหรือไข่เหาตายแล้วไม่สามารถแพร่กระจาย เพิ่มได้ ควรเอาไข่เหาออกเพื่อป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำ

การรักษาเหา

การใช้ยารักษาเหาบางชนิดควรอยู่ในความดูแลของคุณหมอเพื่อป้องกันการใช้มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ผิวแดงและระคายเคืองได้ ดังนี้

ยาที่ไม่ต้องสั่งโดยคุณหมอ แชมพูที่มีส่วนผสมของไพรีทริน (Pyrethrin) หรือเพอร์เมทริน (Pyrethrin) มีผลต่อระบบประสาทของแมลงและช่วยฆ่าแมลง อย่างไรก็ตาม หากใช้ไประยะเวลาหนึ่งเหาอาจดื้อต่อส่วนผสมในแชมพู ควรพบคุณหมอเพื่อรับยาชนิดอื่นเพิ่มเติม

ยารับประทาน เช่น ยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) เป็นยาฆ่าเชื้อใช้รักษาปรสิตที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น เด็กต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 15 กิโลกรัม ถึงจะสามารถใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาได้ อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน

ยาเฉพาะที่ ได้แก่

  • ยามาลาไทออน (Malathion) ใช้ถูกับเส้นผมและหนังศีรษะเพื่อกำจัดเหา ยามาลาไทออนมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงและติดไฟได้จึงควรเก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน และสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
  • ทรีตเมนต์เบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl Alcohol Lotion) ใช้ทาบนหนังศีรษะและเส้นผม ทิ้งไว้เป็นเวลา 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำ จากนั้นเว้นระยะ 7 วัน หากยังมีตัวเหาอยู่ ให้ปฏิบัติซ้ำอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ การระคายเคืองที่ผิวหนัง หนังศีรษะ ดวงตา และอาการชาบริเวณที่ใช้ ไม่แนะนำสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • โลชั่นไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin Lotion) ใช้ทาบนผมที่แห้งและหนังศีรษะโดยตรงเป็นเวลา 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยารักษาชนิดนี้ซ้ำอีกครั้ง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ระคายเคืองดวงตาหรือรอยแดง รังแค ผิวแห้ง และแสบร้อนบริเวณที่ใช้ ไม่แนะนำสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • ยาระงับเฉพาะที่ (Spinosad Topical Suspension) ใช้ยากับผมที่แห้งและหนังศีรษะ ทิ้งไว้เป็นเวลา 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เว้นระยะห่าง 7 วัน หากยังมีตัวเหาให้ทำซ้ำอีกครั้ง อาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ อาการแดงหรือระคายเคืองที่ดวงตาและผิวหนัง ไม่แนะนำสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี

การดูแลตัวเอง

การดูแลตัวเองควรปฏิบัติร่วมกับการรักษาด้วยยา ดังนี้

  • กำจัดไข่เหาบนเสื้อผ้า เครื่องนอน ของใช้ส่วนตัว และเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดที่อาจมีตัวเหาแพร่กระจายอยู่
  • การกำจัดไข่เหาบนหนังศีรษะและร่างกาย หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นเหาจากคนในครอบครัวหรือที่โรงเรียน เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเหา
  • ใช้หวีเสนียดหวีผมในขณะผมเปียกเพื่อกำจัดตัวเหาและไข่เหาออกจากเส้นผม ทำซ้ำทุก 3-4 วัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรใช้รวมกับยารักษาเหาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดีขึ้น
  • หากเป็นผื่นบริเวณหนังศรีษะ หรือท้ายทอย ที่เกิดจากรอยเหากัด ควรทายาลดอาการผื่นด้วย เช่น ยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอย
  • การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับเหา

    การปรับวิธีการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเหา สามารถทำได้ดังนี้

    • ทำความสะอาดของใช้ในบ้านทั้งของใช้ส่วนตัวและของใช้ในบ้าน ด้วยน้ำร้อนจัดประมาณ 54.4°C จากนั้นอบผ้าประมาณ 20 นาที หรือตากแดดจัดเพื่อฆ่าเชื้อเหาป้องกันการเกิดซ้ำ
    • ดูดฝุ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน รวมถึงภายในรถ
    • แช่อุปกรณ์ที่ใช้ดูแลเส้นผมในน้ำร้อนเพื่อฆ่าตัวเหาหรือไข่เหา เช่น หวี ปิ่นปักผม ยางรัดผม หรือที่คาดผม
    • ตรวจสอบตัวเหาหรือไข่เหาของสมาชิกในบ้าน และหลีกเลี่ยงการเล่นใกล้ชิดกันของเด็กเพื่อลดโอกาสติดเหา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา