backup og meta

จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน อาการ สาเหตุและการรักษา

จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน อาการ สาเหตุและการรักษา

จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน (Petechiae) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตก ทำให้เกิดเป็นจุดเลือดสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำตาล ไม่คันและไม่เจ็บปวด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่ในบางกรณีอาการจุดแดงใต้ผิวหนังอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพร้ายแรงบางชนิดได้เช่นกัน จึงควรเข้าพบคุณหมอหากพบว่ามีจุดแดงใต้ผิวหนังร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ฟกช้ำ ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจถี่

[embed-health-tool-bmr]

จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน เกิดจากอะไร

จุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกจนเกิดเป็นจุดแดง ดังนี้

  • การบาดเจ็บ ผิวหนังที่ถูกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การกัด การเสียดสีบนผิวหนัง การถูกแดดเผาหรืออื่น ๆ อาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยแตกจนกลายเป็นจุดแดงใต้ผิวหนังได้
  • การหดเกร็งกร้ามเนื้ออย่างรุนแรง เช่น อาเจียน ยกของหนัก คลอดลูก อาจส่งผลให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังแตกได้
  • การติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคคออักเสบ ไข้อีดำอีแดง ไข้รากสาดใหญ่ (Rocky Mountain Spotted Fever หรือ RMSF) นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus หรือ CMV) ไวรัสฮันตา (Hantavirus) ซึ่งอาจทำให้มีอาการจุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน เหนื่อยล้า มีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวม ปวดเมื่อย คลื่นไส้และอาเจียน
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีเกล็ดเลือดที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและมีอาการจุดแดงใต้ผิวหนัง หรืออาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน ผิวหนังและตาเป็นสีเหลือง ช้ำง่าย
  • การขาดวิตามินซี เมื่อร่างกายขาดวิตามินซีอาจทำให้มีอาการเลือดออกตามไรฟันและฟกช้ำง่าย
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) เป็นการอักเสบของเส้นเลือดทำให้ มีการทำลายผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ น้ำหนักลด ปัญหาเส้นประสาท
  • ความผิดปกติของเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic Uremic Syndrome หรือ HUS) โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura หรือ ITP) ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกร็ดเลือดต่ำ
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อในเยื่อบุหัวใจ ซึ่งอาจทำให้มีจุดแดงใต้ผิวหนังเกิดขึ้น และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจถี่
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว จุดแดงใต้ผิวหนังอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ อาจมีสัญญาณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เลือดออกง่าย มีรอยช้ำ เลือดกำเดาไหล เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ปฏิชีวนะ ยารักษามาลาเรีย ยากล่อมประสาท ยาระงับประสาท ยาที่ทำให้เกร็ดเลือดลดลง ยารักษาจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเปราะง่ายและแตกเป็นจุดแดงใต้ผิวหนังได้
  • โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) เป็นโรคติดต่อจากการจูบ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) มักทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวม และมีไข้
  • ไข้เลือดออก การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกอาจทำให้เลือดแข็งตัวยากเนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ฟกช้ำ เลือดออกง่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนแรง

จุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน มีอาการอย่างไร

จุดแดงที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังอาจมีลักษณะคล้ายผื่น แต่ไม่แสดงอาการของผื่น ไม่คัน ไม่เจ็บ และไม่เป็นตุ่มนูน ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีแดง สีแดงเข้ม สีม่วงหรือสีน้ำตาลเล็ก ๆ กระจายทั่วผิวหนัง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตก หากใช้นิ้วกดบริเวณที่มีจุดแดงลักษณะของสีจะไม่ซีดจางลง

จุดแดงใต้ผิวหนังไม่คัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยบริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ แขน ขา ก้น ภายในเปลือกตา ปาก ท้อง

การรักษาจุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน

หากจุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คันเป็นเพียงปัญหาเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย การใช้ยาบางชนิด หรือการติดเชื้อไวรัสไม่รุนแรง อาการจุดแดงจะค่อย ๆ หายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา

อย่างไรก็ตาม ควรเข้าพบคุณหมอหากพบจุดแดงใต้ผิวหนังไม่คัน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ฟกช้ำ เลือดออกง่าย เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง สำหรับการรักษาคุณหมออาจจำเป็นต้องวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการ จากนั้นคุณหมอจะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับโรคที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การทำเคมีบำบัด ฉายรังสีภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการทำลายหลอดเลือดและแก้อักเสบ
  • ยาช่วยกดระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับความบกพร่องของภูมิคุ้มกันที่อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกง่าย
  • อาหารเสริมวิตามินซี เพื่อป้องกันการขาดวิตามินซีที่อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟันและทำให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Petechiae. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/21636-petechiae#:~:text=Petecvhiae%20may%20look%20like%20a,stay%20purple%2C%20red%20or%20brown. Accessed November 24, 2022

Petechiae. https://www.mayoclinic.org/symptoms/petechiae/basics/definition/sym-20050724#:~:text=Petechiae%20are%20pinpoint%2C%20round%20spots,when%20you%20press%20on%20them. Accessed November 24, 2022

Petechiae. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-are-petechiae. Accessed November 24, 2022

Petechiae What Is It, Causes, Treatment, and More. https://www.osmosis.org/answers/petechiae. Accessed November 24, 2022

Purpura. https://dermnetnz.org/topics/purpura. Accessed November 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการคันตามตัวตอนกลางคืน เกิดจากอะไร ควรบรรเทาอาการอย่างไร

ผื่นแดง อาการ สาเหตุ และการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา