backup og meta

ปากแตก สาเหตุ อาการ และวิธีดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    ปากแตก สาเหตุ อาการ และวิธีดูแลตัวเอง

    ปากแตก เป็นภาวะของริมฝีปากแห้ง  ผิวหนังปริเป็นรอยแยกเล็ก ๆ รู้สึกเจ็บและแสบเล็กน้อย บางครั้งอาจมีเลือดไหล เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ความร้อน อากาศแห้งในช่วงฤดูหนาว อาการของโรคบางชนิด การเลียริมฝีปากบ่อย ๆ  สามารถดูแลตนเองได้ด้วยการทาลิปมันหรือปิโตรเลียมเจลสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ริมฝีปากค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับเป็นปกติ รวมถึงการดื่มน้ำมาก ๆ และการใช้ผ้าพันคอปกปิดบริเวณริมฝีปากเมื่อต้องเผชิญกับอากาศหนาว

    ปากแตก มีสาเหตุจากอะไร

    ปากแตกไม่ใช่อาการเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ มักเกิดขึ้นเมื่อริมฝีปากแห้ง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็นและแห้งกว่าปกติ ทั้งนี้ ผิวหนังบริเวณริมฝีปากมักแห้งและแตกง่ายกว่าผิวหนังส่วนอื่น เพราะไม่มีต่อมน้ำมันใต้ผิวหนังเพื่อช่วยผลิตน้ำมันรักษาความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก

    นอกจากอุณหภูมิและสภาพอากาศ ปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของริมฝีปากแห้งและปากแตก มีดังนี้

  • การเลียริมฝีปากบ่อย ๆ เพราะเอนไซม์ในน้ำลายอย่างอะไมเลส (Amylase) และมอลเทส (Maltase) มักทำให้ผิวหนังบริเวณริมฝีปากได้รับความเสียหาย และเสี่ยงต่อภาวะปากแห้งและปากแตกได้ง่าย
  • การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี
  • การสัมผัสกับสารที่มีคุณสมบัติทำให้ผิวแห้ง เช่น การบูร เมนทอล (Menthol) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
  • ภาวะขาดน้ำ หรือการดื่มน้ำชดเชยไม่เพียงพอต่อน้ำส่วนที่ร่างกายสูญเสียไป
  • อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง โรคภูมิแพ้ ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ปากแตก มีอาการอย่างไร

    เมื่อปากแตก มักมีอาการริมฝีปากแห้ง ลอก เป็นขุย ผิวหนังปริแตก เลือดออก แลรู้สึกเจ็บแสบเล็กน้อย

    ทั้งนี้ เมื่อปากแห้งหรือปากแตกในระดับรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะผิวหนังอักเสบบริเวณริมฝีปากและมุมปาก (Chelitis) ได้ ผู้ป่วยจะมีริมฝีปากเป็นสีแดงหรือชมพูเข้ม ริมฝีปากบวม และริมฝีปากตกสะเก็ด

    ปากแตก มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร

    เมื่อปากแตก สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการทาลิปมัน หรือปิโตรเลียมเจลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในช่วงกลางวันและก่อนนอน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก และป้องกันริมฝีปากแห้งมากกว่าเดิม

    ทั้งนี้ ควรเลือกลิปมันที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลลี  ไดเมธิโคน (Dimethicone) เซราไมด์ (Ceramide) เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) หรือน้ำมันจากพืชต่าง ๆ เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ริมฝีปากและช่วยรักษาปากแตกได้

    อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงลิปมันที่มีส่วนผสมที่ทำให้ริมฝีปากระคายเคือง หรือทำให้แห้งยิ่งกว่าเดิม ได้แก่

    • ยูคาลิปตัส
    • น้ำหอม และกลิ่นสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น กลิ่นมิ้นท์ กลิ่นอบเชย กลิ่นส้ม
    • ลาโนลิน (Lanolin)
    • ออกซิเบนโซน (Oxybenzone)
    • ฟีนอล (Phenol)
    • โพรพิล แกลเลต (Propyl Gallate)
    • การบูร
    • เมนทอล
    • กรดซาลิไซลิก

    ทั้งนี้ เมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรเลือกทาลิปมันที่มีสารกันแดด อย่างไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) หรือซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ทุก ๆ 2 ชั่วโมง

    นอกจากนั้น อาจดูแลตัวเองเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำมาก ๆ และสม่ำเสมอ
    • หลีกเลี่ยงการเลียหรือกัดริมฝีปากที่แตกหรือลอก
    • คลุมปากด้วยผ้าพันคอเมื่อต้องเผชิญกับอากาศเย็น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา