backup og meta

ปาน บนผิวหนังเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    ปาน บนผิวหนังเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    ปาน (Birthmark) เป็นภาวะผิวหนังที่เกิดจากเซลล์เม็ดสีผิวหรือหลอดเลือดใต้ชั้นผิวหนังผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นปานดำ ปานแดง บนผิวหนัง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากปานอยู่ในตำแหน่งที่อาจเป็นอันตราย มีลักษณะหรือขนาดใหญ่ผิดปกติ คุณหมออาจแนะนำให้กำจัดออก เพื่อลดความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง

    ปานคืออะไร

    ปาน คือ รอยหรือจุดสีบนผิวหนัง ที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นไม่นานหลังคลอด สามารถพบได้ในทุกตำแหน่งของร่างกาย มีรูปร่าง ขนาด และสีที่แตกต่างกันออกไป อาจมีสีชมพู สีแดง สีแทน สีน้ำตาล สีเนื้อ หรือสีอื่น ๆ อาจมีลักษณะแบนราบไปกับผิวหรือนูนกว่าผิวหนังโดยรอบ ปานบางจุดอาจจางหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป แต่สำหรับบางคน ปานอาจเด่นชัดขึ้น และปานมักจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บและไม่อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ในบางกรณี ปานอาจสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพบางประการ และสามารถกำจัดออกได้ด้วยวิธีทางการแพทย์

    ปาน เกิดจากอะไร

    ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปานเกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากเซลล์ผิวหนังผลิตเม็ดสีหรือเมลานิน (Melanin) มากกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นมีสีแตกต่างจากบริเวณอื่น หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเติบโตผิดปกติ ส่งผลให้เกิดเป็นปานเส้นเลือดนูนบนผิวหนัง ทั้งนี้ ปานไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่อย่างใด

    ประเภทของปานบนผิวหนัง

    ปานบนผิวหนังที่พบได้บ่อย อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

    ปานแดง (Vascular Birthmarks)

    เกิดจากหลอดเลือดก่อตัวเป็นก้อนสีแดง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กน้อยและมีสีแดงสด มักสังเกตไม่เห็นตอนแรกคลอด แต่จะมองเห็นเมื่อทารกอายุประมาณ 2-3 วันหรือ 2-3 สัปดาห์ ปานสตรอว์เบอร์รีจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อาจขยายตัวเมื่อทารกอายุประมาณ 6-12 เดือน และมักจะเริ่มหดตัวที่ 1 ปีและส่วนใหญ่หายไปหมดเมื่อเด็กอายุ 5-10 ปี โดยไม่ต้องรักษา แต่บางรายก็อาจจะทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นปานสตรอว์เบอร์รีในลักษณะต่อไปนี้ อาจต้องรับการรักษาทางการแพทย์

    • ปานนูนขึ้นบริเวณรอบดวงตาจนทำให้การมองเห็นผิดปกติ
    • ปานนูนขึ้นบริเวณจมูกจนอาจทำให้การเจริญเติบโตของจมูกกระดูกผิดรูป
    • ปานแตกเป็นแผล มีเลือดออก จากการเสียดสี มักพบที่บริเวณปาก คอ อวัยวะเพศ
    • ปานนูนเกิดขึ้นที่อวัยวะภายใน และมักเกิดมีปานนูนภายนอกด้วยอย่างน้อย 5 จุดขึ้นไป และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปานนูนขึ้นที่หลอดลม ไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก
    • ปานสีกาแฟใส่นม (Café au lait Spot)

    มีลักษณะเแบนเรียบเป็นวงรี มีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลกลาง มักพบที่ลำตัว ก้น และขา อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสีเข้มขึ้นตามวัยที่มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ หากมีปานขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 6 จุด อาจเกี่ยวข้องกับโรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) นอกจากนี้ยังพบปานชนิดนี้ในกลุ่มอาการแม็คคูน-อัลไบรต์ (McCune-Albright syndrome) ซึ่งควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม

    • ปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน (Port-wine Stain)

    เกิดจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังก่อตัวและเรียงตัวผิดปกติ ทำให้เกิดปานแดงนูน อาจพบในตำแหน่งใดในร่างกายก็ได้ แต่พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน ขา ปานชนิดนี้มักไม่จางไปเอง และอาจขยายตัวเมื่ออายุมากขึ้น หากไม่รักษาปานอาจหนาตัว และตะปุ่มตะป่ำขึ้น หากเกิดขึ้นรอบดวงตา หรือมีอาการทางสมอง หรือชัก  ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยโรคร่วมอย่างละเอียด การรักษาเพือความสวยงามสามารถทำได้โดยการเลเซอร์ตั้งแต่เด็กอาจจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

    ปานดำ (Pigmented Birthmarks)

  • ปานโอตะ (Nevus of Ota)
  • เป็นปานแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยในคนเอเชีย เกิดจากการผลิตเม็ดสีผิดปกติ ปานโอตะอาจมีสีน้ำเงินเข้มหรือสีน้ำตาลเข้ม หรือเป็นรอยดำที่ขึ้นรวมกันเป็นปื้น และอาจกินพื้นที่บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง เช่น รอบดวงตา ขมับ โหนกแก้ม บางรายอาจมีปานโอตะบริเวณตาขาวด้วย ในบางกรณีอาจความดันลูกตาข้างที่มีปานผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้อาจพัฒนาไปเป็นโรคต้อหินและทำให้ตาบอดได้ นิยมรักษาด้วยการเลเซอร์

    • ปานมองโกเลียน (Mongolian Spot)

    เป็นปานพื้นผิวเรียบสีฟ้าเทา ฟ้าเข้ม หรือสีเขียว มักพบที่หลัง สะโพก หรือบั้นท้าย มีลักษณะไม่สม่ำเสมอ และอาจทำให้สับสนว่าเป็นรอยช้ำ ปานมองโกเลียนอาจจางหายไปโดยสมบูรณ์โดยไม่ต้องรับการรักษาใด ๆ เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน

    • ปานดำแรกคลอด (Congenital Melanocytic Nevus หรือ Mole)

    เป็นปานไฝสีดำหรือสีน้ำตาลตั้งแต่กำเนิด เกิดจากเม็ดสีผิวเจริญเติบโตมากเกินไป ปานดำแรกคลอดจะมีขนาดใหญ่กว่าไฝทั่วไป อาจมีพื้นผิวราบหรือขนงอกมาด้วย และจะอยู่บนผิวหนังไปตลอดชีวิต หากเป็นปานดำแรกคลอดขนาดใหญ่อาจมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังในภายหลัง

    วิธีรักษา ปาน ทำได้อย่างไร

    ปานบนผิวหนังส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาทางการแพทย์ แต่หากคุณหมอพิจารณาแล้วว่าปานทำให้เสี่ยงเกิดภาวะสุขภาพ จะต้องรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับชนิดของปานที่พบ นอกจากนี้ สำหรับที่ผู้ป่วยต้องการกำจัดปานด้วยเหตุผลด้านความสวยงามก็สามารถปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังที่คลินิกหรือโรงพยาบาลได้เช่นกัน

    คุณหมออาจแนะนำให้รักษาปาน ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • การติดตามอาการ คุณหมออาจแนะนำให้ติดตามดูอาการว่าปานมีลักษณะที่ผิดปกติหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่
    • การรักษาด้วยเลเซอร์ เช่น เลเซอร์รักษาเส้นเลือด (Vascular laser) ที่ใช้รักษาปานแดง เลเซอร์รักษาความผิดปกติของเม็ดสี (Pigmented Laser) ที่ใช้รักษาปานดำ
    • การใช้ยา เช่น ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของปานขนาดเล็กและช่วยให้ปานหดเล็กลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา