backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผื่นลมพิษ สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/08/2022

ผื่นลมพิษ สาเหตุ อาการ การรักษา

ผื่นลมพิษ หรือโรคลมพิษ (Hives หรือ Urticaria) เป็นปัญหาสุขภาพผิวหนังที่เกิดจากอาการแพ้สิ่งกระตุ้น เช่น ขนสัตว์ อาหาร ฝุ่นละออง ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการปล่อยสารฮิสตามีนที่ทำให้ผิวหนังบวม เป็นผื่นแดง หากมีอาการคันรุนแรงร่วมกับอาการหายใจผิดปกติ ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

คำจำกัดความ

ผื่นลมพิษ คืออะไร

ผื่นลมพิษ คือ ผื่นแดงบวมขนาดใหญ่บนผิวหนังที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น ขนสัตว์ อาหาร ฝุ่นละออง แสงแดด ละอองเกสร บางคนอาจมีผื่นลมพิษเป็นตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย ส่งผลให้รู้สึกคันเบา ๆ ไปจนถึงคันรุนแรง

ประเภทของผื่นลมพิษที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • ลมพิษเฉียบพลัน

อาจทำให้มีผื่นขึ้น และมีอาการคันไม่เกิน 6 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุมาจากการแพ้พิษจากแมลงกัดต่อย ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน รวมถึงการแพ้อาหาร โดยอาหารที่มักก่อให้เกิดผื่นลมพิษ เช่น ถั่ว มะเขือเทศ ไข่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ นม อาหารสด ปลา ช็อกโกแลต รวมถึงสารกันบูด

  • ลมพิษเรื้อรัง
  • ลมพิษที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากสิ่งกระตุ้นรอบตัว เช่น อาหาร แสงแดด ละอองเกสร อาการข้างเคียงของโรคมะเร็ง ไวรัสตับอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ลมพิษเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะ เช่น ปอด กล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ

    • ลมพิษที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ

    ลมพิษที่เกิดเพราะมีสิ่งมากระตุ้นผิวหนังโดยตรง เช่น สภาพอากาศที่เย็นและร้อน ฝุ่น แสงแดด การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมจนเหงื่อออกมาก ส่วนใหญ่ผื่นลมพิษทางกายภาพอาจเกิดเพียงบริเวณที่ถูกกระตุ้นและจะเกิดภายใน 1 ชั่วโมงหลังถูกกระตุ้น

    อาการ

    อาการผื่นลมพิษ

    อาการของผื่นลมพิษสังเกตได้จากผิวหนังบวม เป็นสีแดงหรือสีน้ำตาล เมื่อกดตรงกลางผื่น ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวชั่วคราว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น หน้าท้อง หน้าอก ต้นแขน ขาส่วนบน ก้น หลัง และบางคนอาจมีอาการคัน แสบร้อนผิวหนังด้วย

    หากมีผื่นลมพิษระดับรุนแรง อาการของผื่นไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน มีไข้สูง รู้สึกไม่สบายตัว ผื่นลุกลามไปยังบริเวณอื่น วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ลิ้น ริมฝีปาก หรือใบหน้าบวม ควรรีบเข้ารับการรักษาจากคุณหมอทันที

    สาเหตุ

    สาเหตุผื่นลมพิษ

    สาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษอาจมาจากถูกสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาหาร ยา พิษจากแมลงกัดต่อย แสงแดด เหงื่อ ละอองเกสร ขนสัตว์ จนทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า แมสต์เซลล์ หรือมาสต์เซลล์ (Mast cell) ปล่อยสารฮิสตามีนออกมา สารชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้ผิวหนังบวมแดง นูน เป็นผื่นลมพิษ

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงผื่นลมพิษ

    ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดผื่นลมพิษ มีดังนี้

    • อาหารบางชนิด โดยเฉพาะ ถั่วลิสง ไข่ หอย กุ้ง
    • การเกาผิวหนัง
    • การสัมผัสกับสารเคมี เช่น น้ำยาง
    • ขนสัตว์เลี้ยง
    • แมลงกัดต่อย
    • ละอองเกสรดอกไม้
    • ยาบางชนิด เช่น เพนิซิลลิน แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)
    • สภาพอากาศร้อนหรือเย็น
    • แสงแดด
    • การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไข้หวัด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคโมโนนิวคลิโอสิส (Infectious Mononucleosis)
    • เหงื่อจากการออกกำลังกาย และการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปที่ส่งผลให้ระบายเหงื่อออกได้ยาก
    • การสูบบุหรี่
    • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยผื่นลมพิษ

    คุณหมอผิวหนังอาจซักประวัติสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร ยาที่ใช้อยู่ และอาจขอเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ เนื้อเยื่อผิวหนัง หรืออาจทดสอบอาการแพ้บนผิวหนัง เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้สิ่งใด

    การรักษาผื่นลมพิษ

    ปกติแล้ว ผื่นลมพิษสามารถหายไปได้เองหรือมีอาการดีขึ้นภายใน 2 วัน แต่หากผื่นลมพิษมีอาการแย่ลง คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ยาแก้แพ้ เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) ยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) เพื่อบรรเทาอาการคันและบวมจากผื่นลมพิษ
    • โลชั่นหรือครีม ที่มีส่วนประกอบของเมนทอล (Menthol) เพื่อบรรเทาอาการคันชั่วคราว
    • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับลมพิษระดับรุนแรง เพื่อบรรเทาอาการคัน ลดการอักเสบ
    • กระบอกยาฉีดอัตโนมัติ (Epinephrine หรือ EpiPen) ใช้สำหรับภาวะฉุกเฉิน หรือเมื่อเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง
    • ยาโอมาลิซูแมบ (Omalizumab) เป็นยาฉีดรักษาผื่นลมพิษ
    • การบำบัดด้วยแสง คุณหมอผิวหนังอาจรักษาผื่นลมพิษด้วยแสง ในกรณีที่รับประทานยาแก้แพ้แล้วไม่ได้ผล ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดหลายครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 เดือน

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผื่นลมพิษ

    วิธีป้องกันและบรรเทาอาการผื่นลมพิษ อาจมีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาหาร สารเคมี ขนสัตว์ ละอองเกสร ฝุ่น แสงแดด
    • หากไปในพื้นที่ที่แมลงเยอะ ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาหรือฉีดสเปรย์เพื่อป้องกันแมลงกัดต่อย
    • หลีกเลี่ยงการเกาผิวหนัง
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อ่อนโยนต่อผิว ปราศจากน้ำหอม
    • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อไม่หนา สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันเหงื่อออก และลดเกิดการสะสมของเชื้อโรคบนผิวหนัง
    • หลังจากออกกำลังกาย ควรอาบน้ำให้สะอาด เพื่อกำจัดคราบเหงื่อไคล
    • หลีกเลี่ยงการขัดถูผิวอย่างรุนแรง เพื่อไม่ให้ผิวระคายเคือง
    • ประคบเย็นบริเวณที่เกิดผื่นลมพิษประมาณ 10-20 นาที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา