มีตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ เป็นสภาวะทางผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หูดข้าวสุก รูขุมขนอักเสบ ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst) สิวข้าวสาร (Milia) ต่อมไขมันฟอร์ไดซ์ สปอต (Fordyce Spots) ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผิดปกติและขยายใหญ่ขึ้น หรืออาจเกิดจากการอุดตันของน้ำมันและสิ่งสกปรกใต้ชั้นผิวหนัง รวมถึงอาจเกิดจากโรคติดต่อทางผิวหนัง ดังนั้น การดูแลทำความสะอาดผิวและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจึงอาจช่วยป้องกันปัญหาผิวที่อาจเกิดขึ้นได้
[embed-health-tool-bmr]
มีตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง
มีตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ ตามผิวหนัง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
สิวข้าวสาร
สิวข้าวสาร เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เป็นซีสต์เคราตินขนาดเล็กก่อตัวขึ้นในรูขุมขนและถูกหุ้มไว้ใต้ชั้นผิวหนัง มีลักษณะเป็นตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ มักเกิดขึ้นบริเวณรอบดวงตาและส่วนอื่น ๆ ตามผิวหนัง เช่น คาง จมูก แก้ม ไม่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ เจ็บปวด หรือคันเหมือนกับสิว
สิวข้าวสารอาจเกิดขึ้นได้จากความเสียหายของผิวหนังจากการทำร้ายของสิ่งต่าง ๆ เช่น ผื่น ผิวหนังบาดเจ็บ แสงแดด การใช้ยาสเตียรอยด์กับผิวเป็นเวลานาน ความผิดปกติของยีนในร่างกาย หรืออาจเกิดจากภาวะภูมิต้านทานตัวเอง
การรักษา สิวข้าวสารอาจสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรืออาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids) เรตินอยด์ (Retinoid) แต่หากสิวข้าวสารไม่หายไปหรือมีอาการรุนแรงขึ้นสามารถเข้าพบคุณหมอผิวหนังเพื่อวางแผนการผ่าตัดรักษาในขั้นตอนต่อไป
การป้องกันสิวข้าวสารอาจทำได้ ดังนี้
- ทำความสะอาดใบหน้าเป็นประจำทุกวัน เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ และสิ่งอุดตันสะสมในรูขุมขน ซึ่งอาจช่วยป้องกันการก่อตัวของซีสต์ใต้ผิวหนังได้
- ทาครีมกันแดด เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดที่มากเกินไป และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์ จะช่วยให้ผิวมีสุขภาพดีและยืดหยุ่นมากขึ้น
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น ใบหน้า ศีรษะ หู ลำตัว หลัง ขาหนีบ มีลักษณะเป็นตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ ที่อาจเจริญเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด หรืออาจมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บของผิวหนัง ท่อไขมันเติบโตผิดปกติ รูขุมขนแตกออกเนื่องจากเคยเป็นสิวมาก่อน
การรักษา ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ก็อาจมีแนวโน้มกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน หรือสามารถเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการฉีดสเตียรอยด์ลดการอักเสบ และหากซีสต์มีการติดเชื้ออาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อระบายไขมันออก
ซีสต์ไขมันอาจไม่สามารถป้องกันได้อย่างถาวร แต่อาจป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดซีสต์ เช่น หลีกเลี่ยงการขีดข่วนบนผิวหนังที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ไม่ควรพยายามบีบ กรีด หรือระบายไขมันในซีสต์ออกเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis)
รูขุมขนอักเสบ เป็นภาวะผิดปกติของผิวหนังที่มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และยังอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อรา เชื้อไวรัส ปรสิต การแพ้ยาหรือการบาดเจ็บทางร่างกาย โดยรูขุมขนอักเสบมีลักษณะคล้ายตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็ก ๆ ตามรูขุมขนบนผิวหนัง มีอาการเจ็บปวด คันและอักเสบ ซึ่งการติดเชื้ออาจแพร่กระจายและกลายเป็นแผลพุพองบนผิวหนังได้
การรักษา อาจสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน โลชั่น หรือเจล เพื่อช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยาต้านเชื้อราหรือยาบรรเทาการอักเสบ เพื่อช่วยลดการติดเชื้อราและบรรเทาอาการคันผิวหนัง
การป้องกันรูขุมขนอักเสบอาจทำได้ ดังนี้
- ทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อขจัดสิ่งสกปรกตกค้างบนผิว
- ทำความสะอาดเสื้อผ้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เปื้อนเหงื่อมาก เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
- ลดการเสียดสีของเสื้อผ้ากับผิวหนัง โดยการสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่คับแน่นเกินไป
- เมื่อต้องโกนขนอาจใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขนร่วมด้วย เพื่อลดการเสียดสีระหว่างมีดโกนกับผิวหนังที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารระคายเคืองผิว เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ สารแต่งสี
ต่อมไขมันฟอร์ไดซ์ สปอต
ต่อมไขมันฟอร์ไดซ์ สปอต เป็นต่อมไขมันใต้ผิวหนังชนิดหนึ่ง เมื่อมีความผิดปกติต่อมไขมันจะขยายใหญ่ขึ้นจนมีลักษณะคล้ายตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ มักพบบริเวณริมฝีปาก แก้ม องคชาต ถุงอัณฑะ หรืออวัยวะเพศหญิง
ต่อมไขมันฟอร์ไดซ์ สปอต อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ และอาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีผิวมันหรือมีไขมันในเลือดสูง
การรักษา โดยปกติต่อมไขมันฟอร์ไดซ์ สปอต สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา หรือสามารถเข้าพบคุณหมอเพื่อรักษาด้วยการเลเซอร์หรือการผ่าตัดเพื่อระบายไขมันออก
การป้องกันต่อมไขมันฟอร์ไดซ์ สปอต อาจไม่สามารถป้องกันได้อย่างถาวร แต่อาจป้องกันได้ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน และหลีกเลี่ยงการแกะ เกาบริเวณที่มีอาการ เพราะอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
หูดข้าวสุก
หูดข้าวสุก เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) บนผิวหนังชั้นนอก มักแสดงอาการในผู้ที่มีภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ โดยอาจทำให้ผิวหนังมีตุ่มขึ้นเหมือนสิว เม็ดสีขาวขุ่นเล็กๆ สีแดง หรืออาจเป็นจุดบุ๋มตรงกลาง แต่ไม่อักเสบ
การรักษา หูดขาวสุกอาจหายเองได้ภายใน 6-9 เดือน แต่ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยยาทาภายนอก เพื่อบรรเทาอาการและลดการเจริญเติบโตของหูด เช่น โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) ยาโพโดฟิลโลทอกซิน (Podophyllotoxin) ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ยาเตรทติโนอิน (Tretinoin)
การป้องกันโรคหูดข้าวสุกอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสการเชื้อโดยตรง หากพบว่ามีคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างที่เป็นหูดข้าวสุก ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังผู้ป่วย รวมถึง ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหูดข้าวสุก