ลมพิษ เป็นอาการทางผิวหนังที่อาจทำให้เกิดอาการคันได้ทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุของการเกิดลมพิษ ได้แก่ แพ้อาหาร แพ้อากาศ แพ้ขนสัตว์ แพ้ยาบางชนิด ลักษณะของลมพิษจะเป็นผื่นแดง ขึ้นเร็วยุบเร็ว ผื่นที่ขึ้นบ่อย ๆ และสามารถหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ลมพิษแบบนี้อาจเรียกว่า ลมพิษเฉียบพลัน แต่หากลมพิษเกิดขึ้นนานกว่า 6 สัปดาห์ ถือว่าเป็นลมพิษเรื้อรัง กรณีที่พบว่ามีผื่นบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก ซึ่งอาจมีอาการบวมที่ลิ้นหรือในลำคอจนอุดกั้นหายเดินหายใจ อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของลมพิษ
ผู้ที่เป็นลมพิษอาจมีอาการดังนี้
- เกิดผื่นแดงที่บริเวณใบหน้า แขน ขา หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- ผื่นแดงอาจเปลี่ยนรูปร่างและตำแหน่งที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงอาจลามไปยังจุดอื่น ๆ ในร่างกายได้ด้วย
- คัน ระคายเคืองผิวหนัง
- รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
โดยปกติอาการของลมพิษมักจะบรรเทาไปเองภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าหากอาการลมพิษเป็นนานกว่า 2-3 วัน รวมถึงบริเวณใบหน้า ตา ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอเริ่มบวม มีไข้และแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรือหายใจติดขัด ควรรีบไปหาคุณหมอทันที เพราะอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ลมพิษเกิดจากสาเหตุอะไร
สาเหตุของการเกิดลมพิษนั้นอาจมีหลายปัจจัย ดังนี้
- แพ้อาหาร เช่น ไข่ ถั่ว นม รวมถึงอาหารทะเล ที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในการเกิดลมพิษ
- แพ้ยา เช่น ซัลฟา (Sulfa) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- แพ้ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์
- สัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช
- แมลงสัตว์กัดต่อย เนื่องจากอาจแพ้พิษของแมลง
- เครียด วิตกกังวล ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย
- ปัจจัยทางกายภาพ เช่น แสงแดด ความร้อน ความเย็น เหงื่อออกเยอะ
- ความเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง
ลมพิษอาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ลมพิษเฉียบพลัน มีอาการผื่นลมพิษไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักเกิดจากสาเหตุการแพ้อาหาร แพ้ยาบางชนิด หรือเกิดหลังการติดเชื้อ
- ลมพิษเรื้อรัง มักเป็นนานกว่า 6 สัปดาห์ เป็นประเภทที่อาจบ่งชี้ถึงสาเหตุได้ยาก แต่อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ไวรัสตับอักเสบ หรือหาสาเหตุไม่ได้
- ลมพิษจากสาเหตุทางกายภาพ เป็นประเภทที่เกิดจากสิ่งเร้าไปกระตุ้น เช่น ความเย็น ความร้อน เหงื่อ อาการมักบรรเทาลงภายใน 1 ชั่วโมง
- ลมพิษตามรอยขูดผิวหนัง เกิดขึ้นหลังจากลูบหรือเกาบริเวณที่เป็น อย่างไรก็ตาม ผื่นประเภทนี้อาจพบร่วมกับลมพิษเฉียบพลันหรือลมพิษเรื้อรังได้เช่นกัน
การวินิจฉัยอาการลมพิษ
โดยส่วนใหญ่คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยการดูที่บริเวณผิวหนัง เพื่อหาสาเหตุและอาจสอบถามประวัติ เช่น การใช้ยา การรับประทานอาหาร การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้ คุณหมออาจทดสอบบางอย่างเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด การทดสอบการแพ้
การรักษาลมพิษ
หากเป็นลมพิษ อาจลองประคบเย็นประมาณ 2-3 นาที เพื่อบรรเทาอาการคัน และที่สำคัญไม่ควรเกาบริเวณที่เกิดลมพิษ เพราะอาจทำให้ผื่นลุกลามและเกิดการอักเสบได้ หากอาการไม่ทุเลา อาจรักษาด้วยการรับประทานยา ดังนี้
- ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) อาจช่วยบรรเทาอาการคันได้
- ยาต้านการอักเสบ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ช่วยลดอาการบวม การอักเสบ และอาการคัน
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) หากยาต้านฮีสตามีนไม่ช่วยบรรเทาอาการลมพิษได้
- ฉีดอะดรีนาลีน หากมีอาการลมพิษที่รุนแรง หรือใช้ในกรณีที่ฉุกเฉิน
การป้องกันการเป็นลมพิษ
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลทำให้เกิดการแพ้ รวมถึงควรสังเกตอาการผิดปกติที่ก่อให้เกิดลมพิษ ทั้งนี้ สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเพื่อค้นหาสิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดลมพิษ
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ควรสวมเสื้อผ้าที่หลวมและระบายอากาศได้ดี
[embed-health-tool-heart-rate]