backup og meta

รักษาตาปลา และหนังหนา ด้วย 6 วิธีที่นิยมใช้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 16/06/2022

    รักษาตาปลา และหนังหนา ด้วย 6 วิธีที่นิยมใช้

    ตาปลา (Corns) และ หนังหนา (calluses) คือภาวะที่ผิวหนังแข็ง หนา หรือด้านขึ้น เกิดจากผิวหนังพยายามป้องกันตัวจากแรงเสียดสีหรือแรงกดทับ พบได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่เท้า นิ้วเท้า มือ และนิ้วมือ สองภาวะนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา และอาจหายไปเองได้เมื่อจำกัดสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังถูกกดทับหรือเสียดสี แต่หากทำให้รู้สึกเจ็บปวด หรือส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด อาจต้องรักษาตาปลาและหนังหนาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    วิธีรักษาตาปลาและหนังหนา

    1. ค่อยๆ กำจัดตาปลาและหนังหนา

    สำหรับตาปลาและหนังหนาที่ไม่หนามาก อาจรักษาเองได้ด้วยการแช่บริเวณเป็นตาปลาและหนังหนาในน้ำอุ่นประมาณ 10 นาที จากนั้นใช้หินขัดผิวหนังส่วนที่ตายและแข็งออก ค่อยๆ ขัดวนเบา ๆ แต่ระวังอย่าขัดผิวหนังออกมากเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดออกและติดเชื้อได้

    อย่างไรก็ตาม หากมีตาปลาและหนังหนามากหรือมีขนาดใหญ่ สามารถเข้าพบคุณหมอได้ โดยคุณหมออาจตัดผิวหนังที่หนาและตาปลาขนาดใหญ่ออกด้วยมีดผ่าตัด การเข้ารับการรักษาตาปลาและหนังหนาวิธีนี้โดยคุณหมอ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

    2. ใช้แผ่นแปะตาปลา

    สามารถหาซื้อแผ่นแปะตาปลาได้ตามร้านขายยาทั่วไป แผ่นแปะตาปลามีรูปร่างเป็นวงกลมคล้ายโดนัท ช่วยป้องกันผิวหนังจากการติดเชื้อขณะที่รอแผลสมาน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นตาปลาและหนังหนาสัมผัสกับเสื้อผ้า รองเท้า หรือถุงมือโดยตรงด้วย

    3. รับประทานยาปฏิชีวนะ

    คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องการการติดเชื้อ ควรรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำในการใช้ยาของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะ

    4. ทามอยเจอร์ไรเซอร์

    การทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวทุกวันอาจช่วยให้ตาปลาและผิวหนังหนานุ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อน คุณหมอจะได้แนะนำครีมหรือโลชั่นที่เหมาะสม

    5. สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม

    พยายามหารองเท้าที่ขนาดพอดีกับเท้า รองรับเท้าได้ดี ไม่กัดเท้าและสวมใส่สบาย หากจะเลือกซื้อรองเท้า ควรเลือกซื้อในช่วงเย็น เพราะเป็นช่วงที่เท้าจะขยายมากที่สุด และควรลองสวมรองเท้าและลองเดินในร้านก่อนตัดสินใจซื้อ หากไม่แน่ใจว่าควรสวมรองเท้าแบบใดจึงจะเหมาะสมกับเท้าที่สุด ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ

    สำหรับการป้องกันและลดตาปลาหรือหนังหนาที่มือ อาจทำได้ด้วยการสวมถุงมือเมื่อต้องทำกิจกรรมที่มีแรงเสียดสีหรือกดทับที่มือมาก ๆ เช่น การทำสวน การทำความสะอาด

    6. การผ่าตัด

    ในบางกรณี คุณหมออาจแนะนำใหัเข้ารับการผ่าตัดรักษาตาปลาและหนังหนา โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูก เช่น หินปูนเกาะกระดูก (bone spur) เท้าแบน (flat feet) หรือมีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน การรักษาด้วยการผ่าตัดมักใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 16/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา