backup og meta

วิธีรักษาสิว ทำได้อย่างไรบ้าง

วิธีรักษาสิว ทำได้อย่างไรบ้าง

สิว คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สิวมีด้วยกันหลายประเภท เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวหัวช้าง สิวอักเสบ โดยเกิดจากรูขุมขนอุดตันด้วยเซลล์ผิวที่ตายแล้วและน้ำมัน สิวอาจพบได้บ่อยในวัยรุ่น แต่ก็อาจเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทั้งยังอาจเป็นสิวเรื้อรังได้ด้วย สิวอาจทำให้เกิดแผลเป็นบริเวณผิวหนัง และอาจทำให้เสียความมั่นใจ หากไม่ได้รับวิธีรักษาสิวที่ถูกต้อง

สิว เกิดขึ้นได้อย่างไร

สิว เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes) หรือที่เรียกว่า P.acnes อาจเริ่มเกิดขึ้นในวัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายเพิ่มการผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า แอนโดรเจน ฮอร์โมนนี้อาจทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตน้ำมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) จากนั้นน้ำมันจะไปผสมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และรวมกันเป็นก้อน ไปอุดตันบริเวณรูขุมขนจนทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง นอกจากนั้น สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสิว อาจมีดังนี้

  • ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลิเธียม (Lithium) ยาที่มีโบรไมด์ (Bromides) หรือไอโอไดด์ (Iodides)
  • พันธุกรรม
  • ความเครียด แม้ความเครียดอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิว แต่ก็อาจทำให้สิวแย่ลงได้
  • การใช้เครื่องสำอางที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เพิ่มขึ้นในช่วงวัยรุ่น อาจทำให้ต่อมไขมันสร้างน้ำมันที่ผิวเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เกิดสิว นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยกลางคน ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน
  • การตั้งครรภ์
  • การรับประทานอาหาร อาหารบางชนิด อย่างอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น มันฝรั่งทอด ขนมปัง อาจทำให้สิวแย่ลงได้ แต่อาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า การรับประทานอาหารบางชนิดส่งผลต่อการเป็นสิวได้หรือไม่

วิธีรักษาสิว

วิธีรักษาสิวอาจเป็นการปรับกระบวนการผลิตน้ำมันบนผิวให้สมดุล กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเพื่อไม่ให้รู้ขุมขนอุดตัน รวมถึงการจำกัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย สำหรับวิธีรักษาสิวอาจทำได้ดังนี้

วิธีรักษาสิวด้วยยาเฉพาะที่

วิธีนี้อาจเป็นวิธีรักษาสิวที่พบบ่อยที่สุด แต่อาจต้องให้คุณหมอเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้ ซึ่งยาเฉพาะที่สำหรับรักษาสิว ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนเกินที่ผิวหนัง ลดรอยแดง และการอักเสบ ในช่วง 2-3 เดือนแรก อาจใช้ยาปฏฺิชีวินะเฉพาะที่ในตอนเช้า และในช่วงเย็นอาจใช้เรตินอยด์ร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) มักถูกใช้ร่วมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อไม่ให้สิวดื้อต่อการใช้ยา
  • แดพโซน (Dapsone) เป็นยาในกลุ่มยาต่อต้านเชื้อแบคทีเรียอยู่ในรูปแบบเจล สำหรับสิวอักเสบอาจใช้ทาวันละ 2 ครั้ง แดพโซนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบริเวณผิวหนังที่ทา เช่น  อาการแดงของผิวหนัง ผิวหนังแห้งกร้าน
  • เรตินอยด์ (Retinoids) มีกรดเรติโนอิก (Retinoic Acids) หรือเทรติโนอิก (Tretinoin) เป็นส่วนผสม อาจเหมาะสำหรับรักษาสิวในระดับปานกลาง มีทั้งรูปแบบเจล หรือโลชั่น อาจใช้เรตินอยด์ทาในตอนเย็น โดยเริ่มจากสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เมื่อผิวคุ้นเคยกับตัวยาแล้วจึงอาจเปลี่ยนมาทาทุกวัน เพื่อช่วยป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แต่สิ่งที่ควรระวัง คือ ไม่ควรใช้เทรติโนอิกพร้อมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) นอกจากนั้น เรตินอยด์ยังอาจทำให้ผิวไวต่อแสง ผิวแห้งและแดงอีกด้วย
  • กรดอะเซลาอิก (Azelaic Acid) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นกรดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาจมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคมีเรีย ป้องกันการอุดตันของรูขุมขน กรดทั้ง 2 ชนิดนี้ หากใช้วันละ 2 ครั้ง อาจทำให้การรักษาสิวมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ผิวหนังเป็นสีแดง ระคายเคือง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจรักษาสิวด้วยกรดทั้ง 2 ชนิดนี้

วิธีรักษาสิวด้วยยารับประทาน

ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานอาจช่วยลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว เหมาะสำหรับรักษาสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรง ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน ได้แก่ เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโคไลด์ (Macrolide) โดยยาแมคโคไลด์อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานเตตราไซคลีนได้ ซึ่งอาจรวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ และเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี การรักษาสิวด้วยยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน ผู้ใช้อาจต้องรับประทานยาในระยะเวลาสั้นที่สุด และอาจต้องใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อลดความเสี่ยงในการดื้อยาปฏิชีวนะ สำหรับยารับประทานที่ใช้รักษาสิว อาจมีดังนี้

  • ยาคุมกำเนิดแบบผสม เป็นยาคุมที่มีส่วนผสมของโปรเจสติน (Progestin) และเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดแบบผสมร่วมกับวิธีการรักษาสิวแบบอื่น ๆ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ น้ำหนักเพิ่ม เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
  • สารต่อต้านแอนโดรเจน คุณหมออาจสั่งจ่ายยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ให้กับผู้หญิงทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยยาชนิดนี้อาจทำงานโดยการปิดกั้นผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่อาจส่งผลต่อต่อมไขมันซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำมันบริเวณผิวหนัง
  • ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวปานกลางหรือรุนแรง นอกจากนั้น ยังอาจเหมาะกับสิวที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาสิวแบบอื่น ๆ ผลข้างเคียงจากไอโซเทรติโนอิน เช่น โรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยานี้อาจต้องไปพบคุณหมอเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียง

วิธีรักษาสิวด้วยเลเซอร์และแสงบำบัด

วิธีรักษาสิวด้วยเลเซอร์และแสงบำบัดอาจมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่ เลเซอร์พัลส์ดาย (Pulsed Dye Laser หรือ PDL) การบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก ส่วนใหญ่อาจต้องไปรักษาหลายครั้ง แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณรังสี แหล่งกำเนิดแสง และวิธีการที่เหมาะสม

วิธีการดูแลตัวเอง

สำหรับวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อควบคุมสิวระดับเบาถึงปานกลาง อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่น
  • สระผมเป็นประจำทุกวันหากผมมัน เนื่องจากความมันและสิ่งสกปรกบนเส้นผม อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  • อาบน้ำทันทีหลังจากทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อหรือความมัน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือรอยแผลเป็นได้
  • พยายามปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยครีมกันแดด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิว (Noncomedogenic) เนื่องจากยารักษาสิวบางชนิดอาจทำใหผิวไวต่อแสงแดด
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม อาจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิว เพราะอาจทำให้โอกาสในการเกิดสิวลดลง
  • ลองใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่จำหน่ายทั่วไป เพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกิน และกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว เช่นผลิตภัณฑ์ทีมีส่วนผสมของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดซาลิไซลิก กรดไกลโคลิก หรือกรดอัลฟาไฮดรอกซี ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาสิว
  • หลีกเลี่ยงการใช้สครับขัดผิว มาสก์หน้า เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง และอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้
  • ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่ใช้อยู่ รวมถึงวิธีรักษาสิวที่เหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Understanding Acne Treatment. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/understanding-acne-treatment. Accessed October 05, 2021

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048. Accessed October 05, 2021

Diagnosis and Treatment of Acne. https://www.aafp.org/afp/2012/1015/p734.html. Accessed October 05, 2021

Acne treatment. https://dermnetnz.org/topics/acne-treatment. Accessed October 05, 2021

ACNE: TIPS FOR MANAGING. https://www.aad.org/public/diseases/acne/skin-care/tips. Accessed October 05, 2021

Prevent, Treat and Overcome Teenage Acne. https://www.chla.org/blog/rn-remedies/prevent-treat-and-overcome-teenage-acne. Accessed October 05, 2021

Medications That Can Cause Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/features/medications. Accessed October 05, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/06/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่กดสิว ใช้กับสิวประเภทไหน และการรักษาสิวที่ถูกต้อง

ล้างหน้าบ่อย สามารถช่วยลดสิวได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา