สิวเป็นปัญหาทางด้านผิวหนัง อาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน แบคทีเรียและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า หลัง ไหล่ หน้าอก รวมไปถึงสิวที่คอ ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัยด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหาร การใช้ยา ความเครียด แม้ว่าสิวจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพที่ร้ายแรง แต่ก็อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น และส่งผลกระทบต่อความมั่นใจได้
[embed-health-tool-bmi]
สิวที่คอ เกิดจากอะไร
สิวเกิดจากรูขุมขนอุดตัน จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่สิวจะเกิดขึ้นที่คอ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวที่คออาจมีดังนี้
- การนำมือที่สกปรกไปสัมผัสกับบริเวณลำคอ
- การเกา หรือสครับผิวรุนแรงเกินไป
- การปล่อยผมลงมาประบ่า ทำให้สิ่งสกปรกจากเส้นผมอุดตันรูขุมขนบริเวณคอ
- การสวมเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ อาจทำให้เกิดการเสียดสีที่คอ หรือการแพ้เครื่องประดับก็อาจทำให้เกิดสิวได้
- การไม่ทำความสะอาดคอหลังออกกำลังกาย หรือหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก
- แชมพู ครีมนวดผม สบู่อาบน้ำที่ใช้อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
- การใช้เครื่องสำอาง โลชั่น ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของน้ำมันก็อาจส่งผลทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวได้
- ฮอร์โมนแปรปรวน เช่น ช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีประจำเดือน อาจทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น แล้วไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันส่งผลให้ผลิตไขมันเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดสิวที่คอ
- ความเครียด ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด อาจไปกระตุ้นการผลิตไขมันเพิ่มขึ้น และส่งผลทำให้เกิดสิวที่คอได้
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ลิเทียม
การรักษาสิวที่คอ
สิวที่คอที่ไม่รุนแรงอาจใช้ครีม เจล โลชั่นที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น
- เรตินอยด์ อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมถึงอาจช่วยยับยั้งการเกิดสิวใหม่
- กรดซาลิไซลิก อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้ลอกออกและป้องกันการอุดตันของรูขุมขน
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวและลดอาการบวมของสิว
- ไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) อาจมีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบ และช่วยลดเลือนรอยแดง
ควรทายาแต้มสิวบาง ๆ อย่างสม่ำเสมอบริเวณที่เป็นสิว แต่ถ้าหากเป็นสิวที่คอรุนแรงหรือเรื้อรัง คุณหมออาจจ่ายยารับประทานร่วมด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน รวมถึงการผลัดเซลล์ผิว การรักษาด้วยเลเซอร์ ทั้งนี้ ควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
การป้องกันการเกิดสิวที่คอ
วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยลดโอกาส และป้องกันการเกิดสิวที่คอได้
- ล้างคอให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ หลังออกกำลังกายหรือหลังจากทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก
- สระผมเป็นประจำ เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกที่อาจอยู่บนหนังศีรษะที่อาจก่อให้เกิดสิว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรสระผมบ่อยเกินไปเพราะอาจทำให้ผมแห้งเสีย เกิดรังแค
- หมั่นรวบผม เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกอุดตันผิวหนังบริเวณลำคอ
- สวมเสื้อผ้าที่สะอาด ไม่ควรใส่ซ้ำหากยังไม่ได้ทำความสะอาด รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการเสียดสีที่อาจทำให้ผิวเกิดการอักเสบ และเกิดสิวได้
- หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์กีฬาที่สัมผัสกับคอ
- ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ปราศจากน้ำมัน พาราเบน รวมถึงสารเติมแต่ง เช่น กลิ่น กลิตเตอร์
- หมั่นทำความสะอาดผ้าปูที่นอน รวมถึงผ้าห่มและปลอกหมอนเป็นประจำ
- ปรับสายรัดกระเป๋าสะพายหลัง เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับและระคายเคืองคอ