สิวหัวหนอง เป็นสิวอักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน น้ำมัน แบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยข้างในของสิวจะมีหนอง เป็นของเหลวสีขาวขุ่น สามารถพบได้บริเวณใบหน้า หน้าอกส่วนบน หลัง สิวหัวหนองมีขนาดใหญ่กว่าสิวหัวขาวหรือสิวหัวดำ ทำให้ยากต่อการปกปิด ควรทำการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการอักเสบและการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
[embed-health-tool-bmi]
สิวหัวหนอง คืออะไร
สิวหัวหนอง คือ สิวอักเสบชนิดหนึ่งที่มีหนองอยู่ข้างใน มีขนาดใหญ่กว่าสิวอุดตัน สิวหัวขาว และสิวหัวดำ ลักษณะของสิวหัวหนองจะเป็นตุ่มที่มีหนองสีขาวอยู่ตรงหัวสิว บวมแดงตรงฐานสิว โดยสิวหัวหนองเกิดจากรูขุมขนอุดตันไปด้วยน้ำมัน แบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เมื่อเกิดการอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย (เม็ดเลือดขาว) จะถูกกระตุ้นในบริเวณนั้น จนทำให้เกิดเป็นหนองขึ้น มักปรากฏบริเวณใบหน้า หน้าอกส่วนบน หลัง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย สิวหัวหนองเป็นสิวที่ไม่ควรบีบ เพราะอาจทำให้สิวแย่ลงหรืออาจเกิดการติดเชื้อได้ เมื่อการอักเสบของสิวเริ่มดีขึ้น สิวหัวหนองอาจจะค่อย ๆ ยุบลง
อาการของสิวหัวหนอง
สิวหัวหนองส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ เช่น
- อักเสบ
- บวม แดงรอบฐานสิว
- เจ็บ หรือคัน
- มีหนอง
หากสิวหัวหนองมีการอักเสบและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงอาจมีไข้ควรไปปรึกษาคุณหมอด้านผิวหนัง เพื่อรับคำปรึกษาและเข้ารับการรักษาไม่ให้อาการหนักขึ้น
สาเหตุของสิวหัวหนอง
สิวหัวหนองอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
- ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน เทสโทสเทอโรน เอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น อาจไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามาก ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวได้
- รูขุมขนอุดตัน หากร่างกายมีการผลิตเหงื่อหรือไขมันมากเกิน อาจทำให้ไขมันไปสะสมที่รูขุมขนและเกิดการอุดตัน จนกลายเป็นสิวหัวหนองได้
- ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ลิเทียม
วิธีรักษาสิวหัวหนอง
การรักษาสิวหัวหนองอาจมีหลายวิธี ดังต่อไปนี้
- ยาทาเฉพาะที่ ที่มีส่วนผสมในการรักษาสิว เช่น
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่อาจช่วยลดการอักเสบและบวมของสิว
- เรตินอยด์ (Retinoid) อาจช่วยลดความมันบนใบหน้า ทั้งยังช่วยผลัดเซลล์ผิว ลดรอยดำ
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
- คลินดามัยซิน (Clindamycin) อาจช่วยรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้
- ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุล และอาจช่วยควบคุมการผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไขมันในร่างกาย
- บำบัดด้วยโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy หรือ PDT) เป็นการใช้แสงเลเซอร์ร่วมกับสารเคมีที่ไวต่อแสง เพื่อลดขนาดต่อมไขมันใต้ผิวหนัง และอาจช่วยลดการผลิตน้ำมันภายในรูขุมขน ซึ่งอาจทำให้สิวหัวหนองยุบลง
การป้องกันสิวหัวหนอง
วิธีการป้องกันการเกิดของสิวหัวหนอง อาจสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- ลดอาหารประเภทของมัน ของทอด อาจช่วยลดสิวได้ในผู้ป่วยบางราย
- รักษาทำความสะอาดร่างกายอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังจากทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเหงื่อ ด้วยสบู่อ่อน ๆ เพื่อชะล้างแบคทีเรียที่อาจเป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และควรล้างเครื่องสำอางบนใบหน้าก่อนเข้านอนทุกครั้ง เพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน หากจะใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ หรือครีมกันแดดควรดูฉลากผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมัน และเหมาะสมกับสภาพผิว
- ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม รวมถึงผ้าเช็ดตัวที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียอยู่เสมอ อย่างน้อยทุก ๆ 1-2 สัปดาห์