backup og meta

หน้าที่ของผิวหนัง คืออะไร และควรดูแลผิวหนังอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    หน้าที่ของผิวหนัง คืออะไร และควรดูแลผิวหนังอย่างไร

    ผิวหนังส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยโปรตีน น้ำ ไขมัน และแร่ธาตุ ซึ่ง หน้าที่ของผิวหนัง มีความสำคัญในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค อุณหภูมิและสารอันตราย รวมทั้ง ยังทำหน้าที่ในการรับความรู้สึก ช่วยสังเคราะห์วิตามินดี ควบคุมอุณหภูมิและความชุ่มชื้น ดังนั้น การดูแลผิวหนังให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพผิวหนังและสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้

    หน้าที่ของผิวหนัง คืออะไร

    ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากสิ่งรบกวนภายนอก และหน้าที่ที่สำคัญอื่น ๆ ดังนี้

    • เป็นเกราะป้องกันผิวจากอุณหภูมิภายนอก เชื้อโรค สารเคมีอันตราย และปกป้องอวัยวะภายในจากการบาดเจ็บ
    • ช่วยควบคุมการสูญเสียน้ำ และให้ความชุ่มชื้นกับผิว
    • ช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้สมดุล
    • ป้องกันอันตรายจากรังสียูวี
    • เป็นอวัยวะรับความรู้สึก ทั้งการตรวจจับอุณหภูมิ แรงกด การสัมผัส การบาดเจ็บ และแรงสั่นสะเทือน
    • ช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดีให้กับร่างกาย

    โครงสร้างของผิวหนังมีอะไรบ้าง

    ผิวหนังประกอบด้วย 3 ชั้นหลัก คือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นใต้ผิวหนัง ดังนี้

    ชั้นหนังกำพร้า

    เป็นชั้นที่อยู่ด้านอกสุดของร่างกาย มีลักษณะยืดหยุ่นและสามารถสร้างขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย

    • เคราติโนไซท์ (Keratinocytes) เป็นเซลล์หลักของหนังกำพร้าที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ใหม่ โดยเซลล์จะเคลื่อนที่ไปยังพื้นผิวด้านบนสุดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เซลล์ชนิดนี้เคลื่อนตัว เซลล์ด้านบนสุดของผิวหนังจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพและผลัดตัวออก
    • คอร์นีโอไซต์ (Corneocytes) เป็นเซลล์เคราติโนไซท์ชั้นนอกสุดที่ตายหรือขี้ไคล (Stratum Corneum) ซึ่งจะค่อย ๆ หลุดออกอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติ
    • เมลาโนไซท์ (Melanocytes) เป็นเซลล์ที่ผลิตเม็ดสีเมลานินที่มีหน้าที่สร้างเม็ดสีผิวและช่วยป้องกันรังสียูวี

    ชั้นหนังแท้

    เป็นชั้นที่ถัดลงมาจากชั้นหนังกำพร้า ประกอบไปด้วย

  • ต่อมเหงื่อ มีหน้าที่ผลิตเหงื่อเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยเหงื่อจะไหลผ่านออกไปยังรูขุมขนบริเวณผิวหนังชั้นนอก
  • ต่อมไขมัน มีหน้าที่ผลิตน้ำมันตามธรรมชาติของผิวหนัง เพื่อช่วยปกป้องเส้นขนจากฝุ่นและแบคทีเรีย
  • รูขุมขน เป็นรูที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังชั้นนอก ช่วยระบายเหงื่อ นอกจากนี้ ภายในรูขุมขนยังมีขนขึ้นเพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายอีกด้วย
  • คอลลาเจนและอิลาสติน (Elastin) เป็นโครงสร้างของผิวหนังที่มีหน้าที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นกับชั้นผิวหนัง
  • เส้นประสาท ภายในชั้นหนังแท้ประกอบไปด้วยเส้นประสาทมากมาย ที่ช่วยให้สามารถมีความรู้สึกเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เช่น ความนุ่ม ความแข็ง ร้อน เย็น ความเจ็บปวด
  • เส้นเลือด ในชั้นหนังแท้ประกอบไปด้วยหลอดเลือดที่มีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปยังชั้นผิวหนัง เพื่อช่วยให้ผิวหนังแข็งแรงและสุขภาพดี
  • ชั้นใต้ผิวหนัง

    เป็นชั้นในสุดของผิวหนัง ประกอบไปด้วย

    • เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อระหว่างชั้นผิวหนังกับกล้ามเนื้อในร่างกาย
    • ไขมัน เป็นไขมันที่ช่วยให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ช่วยลดการเสียดสีและลดแรงกระแทกของอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อและกระดูก

    การดูแลผิวหนังให้สุขภาพดี

    การดูแลผิวหนังเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพผิวให้แข็งแรง อาจทำได้ดังนี้

    • อาบน้ำทำความสะอาดผิวทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือหากมีเหงื่อออกมากจากการทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย สามารถอาบน้ำได้ทันทีเพื่อขจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อาจทำร้ายผิว
    • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น ครีม โลชั่น เซรั่ม มอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิวทันทีหลังอาบน้ำ โดยควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิว เช่น หากมีผิวแห้งควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันเพื่อให้ความชุ่มชื้น แต่หากผิวมันควรใช้ผลิตภัณฑ์สูตรน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นและลดการอุดตันของรูขุมขน
    • ทาครีมกันแดดและปกป้องผิวจากแสงแดดทุกวัน โดยควรเลือกครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป ทาผิวทุกครั้งแม้ว่าจะไม่ได้ออกนอกบ้าน และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อการปกป้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากต้องออกจากบ้านช่วงเวลาที่แดดจัดควรใส่หมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีอีกชั้นหนึ่ง
    • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่สามารถทำลายคอลลาเจนและอิลาสตินในชั้นผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังเสื่อมสภาพ แห้ง เหี่ยวย่นและอาจเกิดริ้วรอยได้ง่าย
    • จัดการกับความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมและงานอดิเรกที่ชอบ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เนื่องจากความเครียดอาจทำให้ผิวหนังอ่อนแอ และอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาผิวหนังหลายชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ผิวหนัง สิว กลาก
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะในระหว่างนอนหลับร่างกายจะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและปรับความสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพผิวหนัง
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงโดยเฉพาะผัก ผลไม้ และธัญพืช รวมทั้งโปรตีน ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยบำรุงผิวและปกป้องผิวจากภายในสู่ภายนอก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา