backup og meta

ผิวหนัง แตก สาเหตุและการดูแลสุขภาพผิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    ผิวหนัง แตก สาเหตุและการดูแลสุขภาพผิว

    ผิวหนัง แตก เป็นปัญหาผิวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย หากผิวหนังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม หรืออาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคผิวหนัง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่ส่งผลให้ผิวหนังแตก แห้ง และขาดความชุ่มชื้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการคัน เจ็บปวด และเลือดออกได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพผิวอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการผิวหนังแตกได้

    ผิวหนัง แตก เกิดจากสาเหตุอะไร

    ผิวหนัง แตก สามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทั่วร่างกาย โดยเฉพาะส้นเท้า มือ นิ้วมือ และริมฝีปาก ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้น ส่งผลให้ผิวหนังมีรอยแตกเล็ก ๆ ขึ้นใต้ผิวหนัง และอาจทำให้ผิวดูหมองคล้ำ ดังนั้น หากผิวหนังแตกไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้รอยแตกขยายใหญ่ขึ้น จนทำให้มีอาการคัน เจ็บปวด และเลือดออกได้

    นอกจากนี้ ผิวหนังแตก แห้ง และขาดความชุ่มชื้น ยังอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    ภาวะขาดสารอาหาร

    สารอาหารอาจมีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพผิวให้แข็งแรงและสุขภาพดี การรับประทานสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือมีสารอาหารในระดับต่ำ อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน กรดไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ ที่มีประโยชน์ต่อการสังเคราะห์โปรตีนในผิวหนัง จึงอาจทำให้ผิวหนังแตก แห้ง และสูญเสียความชุ่มชื้น

    โรคผิวหนัง

    โรคผิวหนังหรือสภาพผิวที่ทำให้เกิดการอักเสบ คัน และแห้งกร้าน อาจทำให้ผิวหนังเกิดรอยแตก สูญเสียความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิว โดยโรคผิวหนังต่าง ๆ อาจมีดังนี้

    • โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้า มือ แขน เข่า และหลัง ทำให้มีอาการผื่นแดง คัน ผิวแห้ง เป็นขุย แผลพุพอง ผิวหยาบกร้าน และอาจทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแตกได้
    • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังเจริญเติบโตเร็วเกินไป จึงทำให้มีอาการผิวแห้ง ผิวแข็ง เป็นสะเก็ด หยาบกร้าน และคัน ที่อาจนำไปสู่ปัญหาผิวหนังแตก
    • โรคน้ำกัดเท้า เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง อาจทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย เป็นผื่น คัน และแห้ง จนอาจส่งผลให้ผิวหนังมีรอยแตกได้
    • โรคผิวหนังลอก เป็นโรคที่ทำให้มีอาการผิวลอกบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าอย่างรุนแรง เมื่อผิวหนังชั้นนอกที่มีหน้าที่ปกป้องและกักเก็บความชุ่มชื้นสูญเสียไป ก็อาจทำให้ผิวแห้งมาก ผิวแดง เป็นตุ่มพอง หรือผิวหนังแห้งแตกได้

    โรคเบาหวาน

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาผิวมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผิวที่เท้า เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของเส้นประสาทที่เท้าและการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีเท่าที่ควร จนอาจทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการขับเหงื่อที่เท้า และเลือดไม่สามารถลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงผิวหนังได้อย่างเพียงพอ จนอาจนำไปสู่ปัญหาผิวหนังแตกได้

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแตกได้ เนื่องจากความเสียหายและการอุดตันของหลอดเลือด ที่อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ และเลือดไม่สามารถลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงผิวหนังได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพผิวหนังและอาจทำให้แผลหายช้า

    กรรมพันธุ์

    กรรมพันธุ์บางชนิดอาจทำให้ผิวหนังแห้งมาก โดยเฉพาะฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจทำให้มีรอยแตกเกิดขึ้น

    การดูแลสุขภาพผิวเพื่อบรรเทาอาการผิวหนัง แตก

    การดูแลสุขภาพผิวอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการผิวหนังแตกได้ ดังนี้

  • ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง จนอาจทำให้เกิดปัญหาผิวที่นำไปสู่ผิวหนังแตก
  • ควรทามอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยสามารถทาได้บ่อยตามที่ต้องการ โดยเฉพาะหลังอาบน้ำเพื่อทดแทนความชุ่มชื้นที่สูญเสียไปในขณะอาบน้ำ
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 2-3 ลิตร/วัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกายและผิวหนัง
  • ปกป้องผิวจากสภาพอากาศ หากอยู่ในพื้นที่แห้ง ลมแรง หรือหนาวเย็น ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อปกป้องผิวและให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดการสูญเสียความชุ่มชื้นจากผิวหนังได้
  • เข้ารับการรักษาโรคประจำตัวหรือโรคผิวหนังเป็นประจำ เพื่อป้องกันและบรรเทาภาวะแทรกซ้อนที่สามารถทำให้เกิดปัญหาผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น อาการคัน แผลพุพอง ที่อาจทำให้เกิดปัญหาผิวแห้งแตก
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา