แผลคีลอยด์ คือ แผลเป็นนูนที่สามารถเกิดได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น ติ่งหู ไหล่ แก้ม หน้าอก โดยมักปรากฏขึ้นหลังจากแผลหายภายในไม่กี่เดือน ถึงแม้ว่าแผลเป็นนูนจะไม่ส่งผลอันตราย แต่ก็อาจทำให้ผิวไม่เรียบเนียน และอาจส่งผลให้บางคนขาดความมั่นใจในการแต่งตัว แต่แผลคีลอยด์สามารถแก้ไขได้ โดยควรขอคำปรึกษาและรับการประเมินสภาพผิวจากคุณหมอ เพื่อหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของแผลคีลอยด์
สาเหตุของแผลคีลอยด์ อาจเกิดจากความผิดปกติในกระบวนการสมานแผลบนผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น แผลจากการเจาะตามร่างกาย แผลไฟไหม้ รอยสิว แมลงกัดต่อย และรอยถลอกทุกชนิด ทำให้ร่างกายกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนมาช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิวที่ได้รับความเสียหาย แต่หากมีการผลิตคอลลาเจนมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ จนแผลที่หายแล้วกลายเป็นแผลนูนหรือคีลอยด์ขึ้น อย่างไรก็ตาม คีลอยด์ไม่ส่งผลอันตราย ไม่ก่อตัวเป็นมะเร็ง และไม่ใช่โรคติดต่อ อีกทั้งยังสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้
อาการของแผลคีลอยด์
อาการของแผลคีลอยด์ สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้
- หลังจากบาดแผลหายสนิทแล้ว ผิวหนังอาจมีลักษณะนูนขึ้นมา ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
- ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีลักษณะนุ่ม หนา เงา
- แผลคีลอยด์มีสีแดง น้ำตาล หรือม่วง ขึ้นอยู่กับสภาพผิวแต่ละบุคคล
- อาการคัน
- อาการระคายเคืองเมื่อเสียดสีกับเสื้อผ้า
ควรพบคุณหมอทันทีหากรู้สึกไม่สบายตัว หรือสังเกตว่าแผลคีลอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาเพื่อลดขนาดหรือกำจัดคีลอยด์
การรักษาแผลคีลอยด์
การรักษา แผลคีลอยด์ อาจทำได้ ดังนี้
- ยาฉีด เหมาะสำหรับคีลอยด์มีขนาดเล็ก โดยคุณหมออาจฉีดยาสเตียรอยด์ (Steriod) เพื่อลดความนูนของแผล อาจจำเป็นต้องฉีดติดต่อกันทุกเดือน อย่างน้อย 6 เดือน ผลข้างเคียงของการฉีดแผลคีลอยด์ คือ อาจส่งผลให้สีผิวเปลี่ยนแปลงและผิวหนังยุบตัว
- การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เหมาะสำหรับคีลอยด์ขนาดเล็ก โดยการรักษาด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลว เพื่อลดขนาดของแผลคีลอยด์ลง อาจจำเป็นต้องทำการรักษาหลายครั้งตามที่คุณหมอกำหนด สามารถรักษาควบคู่กับการฉีดคอร์ติโซนได้ ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยความเย็น คือ อาจทำให้ผิวหนังพุพอง เกิดรอยด่างดำ และรู้สึกเจ็บปวดได้
- แผ่นซิลิโคนเจลและผ้าพันแผล เหมาะสำหรับผู้ที่มีคีลอยด์เกิดขึ้นใหม่บนผิวหนัง โดยให้นำผ้ายืดพันแผล มาพันรอบบริเวณแผล เพื่อกดและกระชับแผลที่กำลังหายและป้องกันไม่ให้แผลนูนหนา ควรพันเอาไว้เป็นเวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง/วัน เป็นเวลา 4-6 เดือน
- การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการยิงแสงเลเซอร์ที่คีลอยด์เพื่อช่วยให้คีลอยด์เรียบเนียนไปกับผิว ช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้สีผิวบริเวณคีลอยด์จางลง วิธีนี้อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง อย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของการเลเซอร์ คือ อาจทำให้ผิวหนังพุพอง และมีรอยด่างดำ
- การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ หรือคีลอยด์มีขนาดใหญ่มาก โดยคุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดนำคีลอยด์ออก
การป้องกันแผลคีลอยด์
วิธีป้องกันแผลคีลอยด์ อาจทำได้ ดังนี้
- หลังเกิดบาดแผล ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าให้เร็วที่สุด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่อาจอยู่ในแผล เพราะการทำให้แผลสะอาดอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นได้ และควรทาปิโตรเลียมเจลบาง ๆ รวมถึงใช้ผ้าพันแผลหรือซิลิโคนเจล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสมานแผล นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และไอโอดีนในการล้างแผล เพราะอาจทำให้แผลแห้งเกินไป
- สำหรับแผลจากการเจาะหู หรือการเจาะตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ควรใส่ต่างหูหรือเครื่องประดับแบบหนีบ ไว้อย่างน้อย 12 ชั่วโมง/วัน เป็นเวลา 4-6 เดือน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในการดูแลแผล หากสังเกตว่ามีอาการบวมนูนในบริเวณที่เจาะ ควรพบคุณหมอทันที
- สำหรับผู้ที่มีแผลจากการสักตามร่างกาย ควรพันผ้าหรือใช้ซิลิโคนเจลกดทับแผลเอาไว้ เพื่อป้องกันผิวหนังหนาขึ้น และป้องกันการเกิดคีลอยด์
- ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 60 ขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้สีผิวบริเวณแผลเป็นคล้ำและผิวหนังหนาขึ้นเนื่องจากแสงแดด
- ระมัดระวังอุบัติเหตุและหลีกเลี่ยงการเจาะผิวหนัง การสัก หรือการโกนขนด้วยมีดโกน เพราะอาจเสี่ยงก่อให้เกิดบาดแผล ที่อาจนำไปสู่การเกิดคีลอยด์ได้
[embed-health-tool-heart-rate]