backup og meta

คุดทะราด คือโรคอะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไร

คุดทะราด คือโรคอะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไร

คุดทะราด เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิส เมื่อเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ผิวหนังบริเวณมือและเท้าขรุขระหรือเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายผิวของคางคก หากไม่รีบรักษา เชื้อแบคทีเรียอาจเข้าไปทำลายกระดูกและผิวหนัง จนทำให้พิการ อวัยวะผิดรูป หรือเสียโฉมได้

[embed-health-tool-bmi]

คุดทะราดคือโรคอะไร

คุดทะราด (Yaws) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม เพอทีนิว (Treponema Pallidum Pertenue) ซึ่งเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือรอยขีดข่วน การสัมผัสกับผิวหนังที่ติดเชื้อ

โดยทั่วไป คุดทะราดมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และเกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

ปัจจุบัน คุดทะราดไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่อาจรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคเมื่อเป็นในระยะสุดท้ายอาจยากต่อการฟื้นฟูสภาพผิวหนังและกระดูกที่เสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรไปพบคุณหมอตั้งแต่พบว่าเป็นโรคในระยะแรก ๆ

คุดทะราด มีอาการอย่างไร

คุดทะราดมีระยะฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือนหลังจากได้รับเชื้อจึงจะแสดงอาการ โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะที่ 1 ผู้ป่วยมีตุ่มบวมและแผลเปื่อยขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมและเจ็บร่วมด้วย อาการในระยะนี้มักค่อย ๆ หายได้เองได้ภายใน 3-6 เดือน แต่มักทิ้งรอยแผลเป็นไว้ อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบคุณหมอโรคผิวหนังทันทีเมื่อพบตุ่มบวมและแผลเปื่อยตามร่างกายเพื่อป้องกันโรคลุกลาม
  2. ระยะที่ 2 หากไม่ได้รับการรักษาในระยะที่ 1 ผู้ป่วยมักกลับมาเป็นซ้ำ โดยมีตุ่มบวมสีม่วงขึ้นตามใบหน้า แขน หรือขา รวมทั้งผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าหนาเป็นเกล็ดคล้ายผิวคางคก อาการในระยะนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลา 3-6 เดือนแล้วหายไปเอง
  3. ระยะแฝง เมื่อปล่อยอาการไว้โดยไม่รักษา จะเข้าสู่โรคในระยะแฝง ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ และหากสัมผัสกับผู้ป่วยในระยะนี้จะไม่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้อ โดยทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษา และไม่ได้รับเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยคุดทะราดมักอยู่ในระยะนี้ไปตลอดชีวิต
  4. ระยะสุดท้าย เกิดแผลรุนแรงขึ้น โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปทำลายผิวหนังและกระดูก ทำให้ร่างกายพิการ อวัยวะผิดรูป หรือเสียโฉม แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ มักพบผู้ป่วยโรคคุดทะราดอยู่ในระยะนี้ประมาณร้อยละ 10-20 นานกว่า 5 ปีหากไม่ได้รับการรักษา

คุดทะราดรักษาได้อย่างไร

คุณหมอมักวินิจฉัยผู้ที่เสี่ยงเป็นคุดทะราดจากการซักประวัติ สังเกตสภาพผิวหนังนอกร่มผ้าหรือในร่มผ้าร่วม นำตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังไปตรวจในห้องปฏิบัติการ และเมื่อทราบผลวินิจฉัยว่าเป็นคุดทะราด คุณหมอจะรักษาผู้ป่วยด้วยตัวยาต่อไปนี้

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) เป็นยาต้านแบคทีเรีย โดยคุณหมอจะให้รับประทาน 1 โดส ในอัตรา 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/คน
  • เพนิซิลลิน (Penicillin) หรือเบนซาทีน เพนิซิลลิน (Benzathine Penicillin) โดยคุณหมอจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วย 1 โดสเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของคุดทะราด ทั้งนี้ ยากลุ่มเพนิซิลลินบางครั้งอาจใช้รักษาผู้ป่วยที่รักษาด้วยอะซิโธรมัยซินแล้วไม่ได้ผล และหากผู้ป่วยแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน คุณหมอจะเลือกรักษาผู้ป่วยด้วยยาเตตราไซคลิน (Tetracycline) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกัน

คุดทะราด ป้องกันได้อย่างไร

คุดทะราดอาจป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างมือสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคคุดทะราดจากการใช้สิ่งของหรือสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคคุดทะราด
  • หากทราบว่าตนเองสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือสิ่งของของผู้ติดเชื้อ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
  • คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตสภาพผิวหนังของลูกเป็นประจำ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดตัว หวี แก้วน้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

คุดทะราด (YAWS). https://www.pidst.or.th/A240.html. Accessed November 3, 2022

โรคคุดทะราด. https://www.nat.go.th/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8/ArticleId/688. Accessed November 3, 2022

Yaws. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/yaws#:~:text=Yaws%20is%20a%20chronic%20disfiguring,an%20inexpensive%20antibiotic%20called%20azithromycin. Accessed November 3, 2022

Yaws. https://dermnetnz.org/topics/yaws. Accessed November 3, 2022

Yaws. https://medlineplus.gov/ency/article/001341.htm. Accessed November 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้เหงื่อตัวเอง โรคผิวหนังที่เกิดจากความร้อน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา