backup og meta

งูสวัดกี่วันหาย อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    งูสวัดกี่วันหาย อาการ สาเหตุ และการรักษา

    โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังหายจากอีสุกอีใส เชื้อจะซ่อนอยู่ในปมประสาท และหากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวน ส่งผลให้เป็นโรคงูสวัด อาการคือ ปวดและมีผื่นหรือตุ่มใสขึ้นตามแนวเส้นประสาท อาจเกิดขึ้นที่ใบหน้า แขน ขา หรือชายโครง การรักษาโรคงูสวัดอาจรักษาตามอาการ ให้ยาต้านไวรัส เป็นต้น แต่เป็นโรค งูสวัดกี่วันหาย อาจขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค สุขภาพร่างกาย และการดูแลตัวเองของผู้ป่วยด้วย

    โรคงูสวัด คืออะไร

    โรคงูสวัด คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส แม้จะรักษาโรคอีสุกอีใสหายแล้ว แต่เชื้อไวรัสจะยังซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวและเพิ่มจำนวน จนส่งผลให้เป็นโรคงูสวัดได้ 

    อาการของงูสวัด

    อาการของโรคงูสวัดอาจมีดังนี้ 

    • ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท
    • มีตุ่มน้ำใส หรือผื่นแดงคันตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมักปรากฏหลังมีอาการปวดประมาณ 2-3 วัน
    • ปวดเมื่อยร่างกาย 
    • ผิวบริเวณตุ่มหรือผื่นไวต่อการสัมผัส
    • เหนื่อยล้า
    • ปวดศีรษะ 
    • เป็นไข้ 
    • ท้องเสีย 

    นอกจากนี้ โรคงูสวัดยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น 

    • ปัญหาการมองเห็นหรือสูญเสียการมองเห็น หากมีผื่นขึ้นที่ดวงตาหรือรอบดวงตา
    • การติดเชื้อที่ผิวหนัง หากแผลตุ่มน้ำใสจากงูสวัดไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย
    • อาการปวดเส้นประสาทหลังเป็นงูสวัด (Post-herpetic Neuralgia หรือ PHN) คือ อาการปวดในบริเวณที่เป็นผื่นจากโรคงูสวัดแม้ผื่นจะหายไปแล้ว โดยปกติอาการมักดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์หรือหลายเดือน 

    งูสวัดกี่วันหาย 

    ผื่นงูสวัดมักแตกและแห้งไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา แต่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์จึงจะหายสนิท ส่วนอาการอื่น ๆ จะค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป 

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    หากเป็นโรคงูสวัดแล้วมีอาการหรือภาวะต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    • ผื่นขึ้นบนใบหน้า เพราะอาจทำลายกระจกตา หรือส่งผลต่อการมองเห็นได้ 
    • ผื่นขึ้นพร้อมกับมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน หูอื้อ มองเห็นภาพซ้อน ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก สับสน วิตกกังวล 
    • เจ็บหรือปวดบริเวณบาดแผลอย่างรุนแรง
    • ผิวหนังบริเวณที่เป็นงูสวัดติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการบวม แดงที่ผิวหนัง มีไข้สูง เป็นต้น
    • ผื่นที่เป็นอยู่ไม่บรรเทาลง แม้เวลาผ่านไปแล้วประมาณ 10 วัน

    สาเหตุของโรคงูสวัด

    โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใสอาจเป็นโรคงูสวัดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสยังคงแฝงอยู่ในปมประสาท หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาจทำให้เชื้อไวรัสชนิดนี้ที่แฝงตัวอยู่แบ่งตัวและเพิ่มจำนวน ทำให้เส้นประสาทอักเสบ จนเกิดเป็นโรคงูสวัด ส่งผลให้ปวดและมีตุ่มหรือผื่นขึ้นที่ผิวหนังบริเวณแนวเส้นประสาทโดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ได้แก่ 

    • อายุเกิน 50 ปี
    • พักผ่อนไม่เพียงพอ 
    • เข้ารับการฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัด  
    • มีปัญหาสุขภาพ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง
    • ใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ เพรดนิโซน (Prednisone) ยากดภูมิคุ้มกัน

    การรักษาโรคงูสวัด

    วิธีรักษาและดูแลอาการของโรคงูสวัด อาจมีดังนี้

    • รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อชะลอการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน 
    • ใช้ยาบรรเทาอาการปวดและลดผื่น เช่น ยากันชัก อย่างกาบาเพนติน ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก อย่างอะมิทริปไทลีน ยาชา อย่างลิโดเคนในรูปแบบครีม เจล สเปรย์ แผ่นแปะ เป็นต้น โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาภายใน 3 วันหลังเริ่มมีผื่นขึ้น 
    • ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที  3-4 ครั้ง/วัน อาจช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น
    • อาบน้ำให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย

    การป้องกันโรคงูสวัด 

    วิธีการต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้ 

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น หรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยโรคงูสวัด 
    • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา