สังคังเป็นโรคผิวหนังติดเชื้อราที่ก่อให้เกิดอาการคันรุนแรง เกิดจากการติดเชื้อราที่คล้ายกับเชื้อกลาก พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ก็สามารถพบในผู้หญิงได้เช่นกัน ลักษณะ สังคังในผู้หญิง อาจเป็นผื่นแดงกระจายทั่วผิวหนังบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือทวารหนัก สังคังเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาและไม่สามารถหายได้เอง โดยทั่วไปอาจใช้ยาต้านเชื้อราเพื่อกำจัดเชื้อราซึ่งอาจทำให้อาการหายไปภายใน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากผื่นแดงและอาการคันไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์และไม่หายหลังจากรักษามาแล้ว 3 สัปดาห์ หรือกลับมาเป็นซ้ำในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และควรรักษาสุขอนามัยอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นซ้ำ
[embed-health-tool-ovulation]
สังคัง คืออะไร
สังคัง (Jock itch หรือ Tinea cruris) เป็นภาวะติดเชื้อราที่คล้ายกับเชื้อกลาก ทำให้เกิดผดผื่นแดง ตุ่มพอง แผลตุ่มหนอง แผลเป็นสะเก็ด หรือลอกเป็นขุย กระจายบนผิวหนังบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือร่องก้น ก่อให้เกิดอาการคัน แสบ ร้อน และระคายเคืองอย่างรุนแรง โดยเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่ไปยังบุคคลอื่นได้ ผ่านการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโดยตรง การสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์
สังคังในผู้หญิง เกิดจากอะไร
สังคังเป็นภาวะติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่ชื่อว่าไตรโคไฟตัน (Trichophyton) เป็นเชื้อที่มักอาศัยอยู่บริเวณที่ชื้นและอบอุ่น พบบ่อยในผู้ชายเนื่องจากอาจเกิดความอับชื้นบริเวณถุงอัณฑะและต้นขาได้ง่าย อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะในวัยรุ่นและในวัยหนุ่มสาว ผู้หญิงก็สามารถเกิดสังคังได้ หากขาหนีบและบริเวณใกล้เคียงอับชื้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคสังคัง อาจมีดังนี้
- เป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคอ้วน
- เป็นโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังขาหนีบ
- ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นกลาก
- มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- มีความชื้นบริเวณขาหนีบอับชื้นเนื่องจากที่เกิดจากเหงื่อออก
- สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ทำให้ผิวหนังระคายเคือง
- สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น ชุดว่ายน้ำ
- ใช้เสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดตัวเปื้อนเหงื่อหรือชื้นร่วมกับผู้อื่น
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นสังคัง
ลักษณะ สังคังในผู้หญิง เป็นอย่างไร
ลักษณะ สังคังในผู้หญิง อาจมีดังนี้
- เกิดผื่นแดงรูปวงกลมหรือจันทร์ครึ่งเสี้ยวกระจายทั่วผิวหนังบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือทวารหนัก
- มีอาการคันรุนแรงบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ
- ผื่นแดงมีขอบนูนชัดเจน
- มีตุ่มหรือเป็นแผลตุ่มหนองพุพอง
- ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย
วิธีรักษาสังคังในผู้หญิง
วิธีรักษาสังคังในผู้หญิง อาจทำได้ดังนี้
- ยาชนิดใช้ภายนอก หากอาการคันเล็กน้อย คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อรารูปแบบครีม โลชั่น ผง หรือสเปรย์ที่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) โทลนาฟเทต (Tolnaftate) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
- ยาชนิดรับประทาน กรณีที่อาการสังคังไม่ตอบสนองกับยาทา คุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
สำหรับผู้ที่เคยเป็นสังคังมาก่อน อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำ จึงควรใส่ใจดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- เช็ดตัวให้แห้งทั่วทั้งร่างกายหลังอาบน้ำและว่ายน้ำ
- รักษาบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
- ใช้น้ำเปล่าในการทำความสะอาดอวัยวะเพศ หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและทำลายสมดุลของแบคทีเรียที่รักษาความเป็นกรด-ด่างภายในช่องคลอด
- หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว
- สำหรับคนที่มีผิวบอบบางหรือระคายเคืองง่าย อาจซักชุดชั้นในด้วยน้ำยาซักผ้าที่ไม่รุนแรงและไม่มีกลิ่น
- ซักผ้าปูที่นอนและผ้าขนหนูด้วยน้ำร้อนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และซักเสื้อผ้าหลังสวมใส่ทุกครั้ง ไม่ควรสวมใส่ซ้ำ
- หลังการออกกำลังกายหรือว่ายน้ำ ควรอาบน้ำและเช็ดร่างกายให้แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าเปียกเป็นเวลานาน
- สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อป้องกันเชื้อโรค
- สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เน้นชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน
- เปลี่ยนชุดชั้นในอย่างน้อยทุก 24 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย