backup og meta

ฝีฝักบัว อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/02/2022

    ฝีฝักบัว อาการ สาเหตุ และการรักษา

    ฝีฝักบัว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีรูขุมขนเกิดการอักเสบจนเกิดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่มีหนองและเซลล์ผิวที่ตายแล้วอยู่ภายใน เมื่อปริมาณของหนองเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนแตกและมีหนองไหลออกมา ส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่บางครั้งหนองที่อยู่ในก้อนเนื้อก็อาจไม่สามารถไหลออกมาเองได้ จึงต้องเข้ารบการรักษาจากคุรหมออย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณที่เป็นแผล

    ฝีฝักบัว คืออะไร

    ฝีฝักบัว (Carbuncles) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ส่งผลทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีรูขุมขนเกิดการอักเสบจนเกิดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่มีหนองและเซลล์ผิวที่ตายแล้วอยู่ภายใน เมื่อปริมาณของหนองเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนแตกและมีหนองไหลออกมา ส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ระคายเคืองภายใต้ผิวหนัง ซึ่งบริเวณที่อาจเกิดฝีฝักบัวได้บ่อย ได้แก่ ใบหน้า หลังคอ รักแร้ ต้นขา ก้น และอาจพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

    อาการของฝีฝักบัว

    สำหรับอาการที่อาจเกิดขึ้นจากฝีฝักบัวมีดังนี้

    • ผิวหนังเกิดบวมและตุ่มสีชมพูหรือแดง
    • มีอาการคันก่อนที่ก้อนเนื้อจะปรากฏขึ้นมา
    • เจ็บปวดผิวหนังรอบ ๆ บริเวณที่เกิดก้อนเนื้อ
    • ก้อนเนื้อมีหนองเกิดขึ้นและอาจขยายใหญ่ขึ้นใน 2-3 วัน
    • ผิวหยาบกร้าน และมีหนองไหลออกมา
    • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
    • รู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย
    • หนาวสั่นและมีไข้

    สาเหตุของการเกิดฝีฝักบัว

    ฝีฝักบัวอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus Aureus) กระจายเข้าสู่รุขุมขนผ่านทางบาดแผลหรือรอยขีดข่วน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ ผิวหนังอักเสบ และเป็นหนอง ซึ่งฝีฝักบัวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อับชื้น เช่น บริเวณด้านหลังของคอ ต้นขา รักแร้ ก้น หรือบริเวณที่มีเหงื่อออก โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นฝีฝักบัวได้มากกว่าคนอื่น ๆ ได้แก่

    • โรคเบาหวาน
    • โรคไต
    • โรคตับ
    • โรคอ้วน
    • โรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก
    • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ผู้ที่รักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น ไม่อาบน้ำ
    • ผู้ที่ใช้ของใช้บางอย่างร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู
    • ผู้ที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส
    • ผู้ที่โกนหนวดหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง

    วิธีรักษาฝีฝักบัว

    วิธีการรักษาฝีฝักบัวอาจทำได้ด้วยหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่ระดับความรุนแรงของอาการและบริเวณที่เกิดฝีฝักบัว แต่หากเป็นฝีที่ใบหน้า ใกล้กระดูกสันหลัง มีขนาดใหญ่ขึ้นและรักษาไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีฝีขึ้นหลายหัวติด ๆ กัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เช่น

    • การรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยคุณหมออาจให้รับประทานต่อเนื่องเป็นอย่างน้อย 1 สัปดาห์
    • สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดฝี และต้านเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
    • การผ่าตัด หากฝีมีขนาดใหญ่ คุณหมออาจระบายหนองออกด้วยการผ่าตัดหรือใช้เข็ม รวมถึงอาจต้องเอาเซลล์ผืวที่ตายแล้วออกด้วย

    วิธีป้องกันฝีฝักบัว

    การมีสุขอนามัยที่ดีอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีฝักบัวได้ นอกจากนั้นควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งให้ครบถ้วน และไม่ควรหยุดยาเองแม้ฝีจะยุบไปแล้ว
    • ประคบร้อนบริเวณที่เป็นฝีวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที
    • หลีกเลี่ยงการเอาฝีไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รวมถึงไม่ควรบีบหรือเจาะหนองออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น และแผลอาจเกิดการติดเชื้อ
    • หากหนองแตกควรทำแผลอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ด้วยอุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด
    • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ
    • อาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ผิวของคุณปราศจากเชื้อแบคทีเรีย
    • ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า ชุดชั้นใo และผ้าเช็ดตัว เป็นประจำ และไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
    • ควรไปพบคุณหมอหากมีอาการป่วยหรือมีปัญหาผิวอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดแผลบนร่างกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา