backup og meta

เชื้อราผิวหนัง ป้องกันอย่างไร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    เชื้อราผิวหนัง ป้องกันอย่างไร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

    เชื้อราผิวหนัง เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังอย่าง กลาก เกลื้อน สังคัง ฮ่องกงฟุต อย่างไรก็ตาม เชื้อราบนผิวหนังสามารถรักษาให้หาย ได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ทั้งในรูปแบบยาทาภายนอก รวมถึงยาเม็ดสำหรับรับประทาน และป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้า ถุงเท้า หรือรองเท้าที่รัดแน่นจนอับชื้น เนื่องจากความชื้น เป็นปัจจัยสำคัญให้เชื้อราเติบโตและเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

    เชื้อราผิวหนังมาจากไหน

    เชื้อรา เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าตามพื้นดิน ในน้ำ หรือบนผิวหนังมนุษย์

    อย่างไรก็ตาม เชื้อราบนผิวหนัง โดยปกติมักไม่เป็นอันตราย หรือทำให้ติดเชื้อ นอกจากเมื่อมีจำนวนมาก เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • การอาศัยอยู่ในบริเวณที่อบอุ่นหรือชุ่มชื้น
  • การมีเหงื่อออกมากและไม่รีบทำให้แห้ง
  • การไม่รักษาความสะอาดของผิวหนัง
  • การสวมใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่รัดแน่น ระบายอากาศได้ไม่ดี
  • การสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นหรือชุ่มเหงื่อเป็นเวลานาน
  • การสัมผัสกับผิวหนังที่มีเชื้อโรค ไม่ว่าผิวหนังของคนหรือสัตว์
  • การมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยอาจเป็นผลข้างเคียงจากการป่วยเป็นโรค การรักษามะเร็ง หรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • นอกจากนี้ เชื้อราที่อยู่รอบ ๆ ตัวอาจแพร่กระจายมายังผิวหนัง และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

    • การสัมผัสระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลกับสัตว์เลี้ยง
    • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เครื่องแต่งกาย ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน
    • การทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ห้องน้ำ ห้องล็อคเกอร์ ห้องซาวน่า เพราะเต็มไปด้วยความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เชื้อราเติบโตได้เป็นอย่างดี

    เชื้อราผิวหนัง เป็นสาเหตุของโรคอะไรบ้าง

    การติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง อาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ต่อไปนี้

    • โรคกลาก (Tinea Corporis) เป็นโรคผิวหนังเนื่องจากติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (Dermatophyte) อาการที่พบคือ เกิดผื่นวงแหวนบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ อาทิ ตามลำตัว สะโพก แขน หรือขา ทั้งนี้ อาจพบโรคกลากบริเวณหนังศีรษะได้ เรียกว่ากลากที่หนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือ “ชันนะตุ” โดยผู้ป่วยโรคนี้ มักมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และมีก้อนกลัดหนองบนศีรษะ ร่วมกับเป็นผื่นวงแหวน
    • โรคเกลื้อน (Tinea Versicolor) เกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) โดยผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อจะเป็นผื่นวงกลม มักเป็นวงเล็กก่อนขยายใหญ่จนเห็นได้อย่างชัดเจน และทำให้รู้สึกคันเมื่อเหงื่อออก ทั้งนี้ อาการของเกลื้อนมักพบบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก อาทิ ใบหน้า ต้นคอ หน้าอก แผ่นหลัง
    • โรคสังคัง (Tinea Cruris) เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์บริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือก้น มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะกลุ่มนักกีฬาที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่ออยู่เสมอ โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคสังคังจะพบผื่นแดงซึ่งทำให้คันบริเวณที่ติดเชื้อ
    • โรคน้ำกัดเท้า (Tinea Pedis) บางครั้งเรียกว่า “ฮ่องกงฟุต” เป็นการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์บริเวณฝ่าเท้า มักเกิดกับผู้ที่สวมถุงเท้าหรือรองเท้ารัดแน่นหรือเหงื่อออกมากบริเวณเท้าจนทำให้อับชื้น ผู้ที่มีเชื้อราที่เล็บเท้า และผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดของรองเท้า ทำให้เชื้อราเติบโตได้จากคราบเหงื่อหรือคราบสกปรกต่าง ๆ ทั้งนี้ เมื่อเป็นโรคน้ำกัดเท้า ผู้ป่วยมักมีอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณฝ่าเท้าหรือง่ามเท้า เท้าเหม็น ผิวหนังแห้งแตก และมีแผลพุพองบริเวณเท้า
    • โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) หรือ “เซบเดิร์ม” เป็นโรคผิวหนังที่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย รวมถึงความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไป ผู้ที่เป็นผื่นแพ้ต่อมไขมัน มักพบตุ่มแดงร่วมกับอาการคันตามผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ใบหน้า คิ้ว ใบหู เปลือกตา หน้าอก อย่างไรก็ตาม ผื่นแพ้ต่อมไขมันมักเป็นเรื้อรัง ไม่หายขาด

    เชื้อราผิวหนัง รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

    โรคส่วนใหญ่ที่เกิดจากเชื้อราผิวหนัง สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ครีม ผง สเปรย์ แชมพู ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ร่วมกับการรักษาความสะอาดของผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ

    ทั้งนี้ ยาต้านเชื้อราที่คุณหมอมักจ่ายเพื่อรักษาโรคจากเชื้อราผิวหนังต่าง ๆ ประกอบด้วย ไมโคนาโซล (Miconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)

    เชื้อราผิวหนัง ป้องกันอย่างไร

    การติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • รักษาความสะอาดของผิวหนังบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายสม่ำเสมอ
    • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องแต่งกาย ผ้าเช็ดตัว หรือของใช้ส่วนตัว ร่วมกับบุคคลอื่น
    • สวมใส่เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หรือถุงเท้าที่แห้งและสะอาด
    • สวมเครื่องแต่งกายที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป และระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันผิวหนังอับชื้น จนเอื้อให้เชื้อราบนผิวหนังเติบโตและทำให้ติดเชื้อได้
    • สวมรองเท้าแตะเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่อับชื้น อย่างห้องล็อคเกอร์ สระว่ายน้ำ ห้องซาวน่า แทนการเดินเท้าเปล่า
    • งดการสัมผัสกับบุคคลหรือสัตว์ที่ติดเชื้อราผิวหนัง หรือเป็นโรคผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา