backup og meta

เชื้อราแมว ติดคน อาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

    เชื้อราแมว ติดคน อาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษา

    เชื้อราแมว หรือเชื้อราจากแมว เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของแมว หรืออาจพบบนผิวหนังสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย เชื้อนี้สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับพาหะนำเชื้อโดยตรง เมื่อคนไปสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ อาจทำให้ เชื้อราแมวติดคน ได้ เมื่อติดเชื้อราแมวสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราที่วางขายตามร้านขายทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากเชื้อราแมวลุกลาม ทำให้เกิดอาการผื่นคันกระจายทั่วตัว รวมไปถึงบริเวณหนังศีรษะ อาจต้องไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยความรุนแรงของอาการและรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด

    เชื้อราแมว ติดคน คืออะไร

    เชื้อราแมว เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของสัตว์ ที่พบมาก เช่น  เชื้อไมโครสปอรัม เคนิส (Microsporum canis) ซึ่งเป็นเชื้อราก่อโรคชนิดหลักในสัตว์ สามารถพบในสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น สุนัข หนูแฮมสเตอร์ กระต่าย เมื่อสัตว์ติดเชื้อจะทำให้เกิดโรคผิวหนัง และเชื้อสามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยตรงผ่านการสัมผัส การอุ้ม หรือการนอนร่วมเตียงกับสัตว์เลี้ยง เมื่อเชื้อราแมวติดคนจะทำให้เกิดอาการคันและมีผื่นแดงลักษณะเป็นวงขึ้นบนผิวหนัง ในรายที่มีอาการรุนแรง ผื่นและอาการคันอาจกระจายไปทั่วร่างกาย จึงควรหลีกเลี่ยงการเกาที่อาจกระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่น

    อาการของภาวะ เชื้อราแมวติดคน

    เมื่อคนติดเชื้อราแมว อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีผื่นขึ้นเป็นดวง รูปร่างคล้ายวงแหวน ขอบเป็นสีแดง อาจเป็นขุย
  • ผื่นมีหลายขนาด ทั้งวงเล็กและวงใหญ่ อาจเป็นเฉพาะที่ หรือขยายเป็นวงกว้างทั่วร่างกาย
  • ผื่นสามารถขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา ข้อพับของร่างกาย
  • เชื้อราแมวเกิดจากอะไร

    โรคผิวหนังจากเชื้อราแมว เกิดจากเชื้อราก่อโรคในสัตว์เลี้ยง ที่พบบ่อยมี 3 ชนิด คือ เชื้อไมโครสปอรัม เคนิส (Microsporum canis) เชื้อไมโครสปอรัม จิบเซียม (Microsporum gypseum) และเชื้อไตรโครไฟตัน เมนตาโกรไฟท์ (Trichophyton mentagophyte) สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้หลายช่องทาง ดังต่อไปนี้

    • ติดต่อจากคนสู่คน เชื้อราแมวสามารถแพร่กระจายโดยการสัมผัสผิวหนังผู้ติดเชื้อ
    • ติดต่อจากสัตว์สู่คน คนสามารถติดเชื้อราจากสัตว์ได้โดยการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ เชื้อมักอยู่บนผิวหนังของสัตว์ และมักแพร่กระจายในขณะที่สัมผัส ลูบขน กอด หอมสัตว์เลี้ยง เป็นต้น แม้ในบางครั้งเชื้ออาจไม่แสดงอาการในสัตว์เลี้ยง แต่ก็สามารถแพร่ไปยังคน และทำให้เกิดอาการคันและมีผื่นแดงบนผิวหนังได้
    • ติดต่อจากสิ่งของไปสู่คน เชื้ออาจแพร่กระจายไปสู่คนจากการสัมผัสกับวัตถุหรือพื้นผิวที่คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเคยสัมผัส เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หวี แปรงขนสัตว์ พรม
    • ติดต่อจากดินที่มีเชื้อโรค เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อย คนอาจติดเชื้อราแมวได้จากการสัมผัสเชื้อราที่ปนอยู่ในดิน

    กลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อได้ง่าย

    กลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อราแมวได้ง่าย อาจมีดังนี้

  • เด็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง แล้วไม่ได้ล้างมือหรือทำความสะอาดร่างกาย
  • ผู้ที่ทำกิจกรรมใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อราแมว
  • ผู้ที่เล่นกีฬาที่มีการสัมผัสผิวหนัง เช่น มวยปล้ำ
  • การรักษาและวิธีดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อราแมว

    หากติดเชื้อราแมว คุณหมออาจใช้วิธีรักษาและแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้ เพื่อให้หายจากโรคโดยเร็ว และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราแมวซ้ำอีก

    การรักษาเมื่อ เชื้อราแมวติดคน

    • การติดเชื้อราแมวส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาโคลไตรมาโซล ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา ยาไมโคนาโซล (Miconazole) ที่ใช้สำหรับรักษาเชื้อราบนผิวหนัง ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ที่มักใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อที่นิ้วมือและนิ้วเท้า ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ที่ใช้สำหรับรักษาเชื้อราบนผิวหนัง โดยทั่วไป หลังรักษาด้วยยาต้านเชื้อราแล้ว การติดเชื้อราแมวอาจหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์
    • หากภาวะเชื้อราแมวติดคนมีอาการรุนแรง ส่งผลให้เกิดแผลทั่วร่างกาย รวมไปถึงบริเวณหนังศีรษะ คุณหมออาจสั่งยารับประทานต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อรา และยาอิทราโคนาโซล (itraconazole) ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ โดยอาจต้องรับประทานยาต้านเชื้อราร่วมกับการทายารักษาจนกว่าอาการจะดีขึ้นและเชื้อราหมดไป โดยทั่วไปอาจต้องใช้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อราแมว

    • ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำเปล่า แล้วเช็ดมือให้แห้งทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือสัมผัสบุคคลอื่น
    • ไม่เกาบริเวณแผล เพราะอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น และอาจทำให้เชื้อราและแผลลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้
    • หากติดเชื้อราจากสัตว์เลี้ยง ควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาการติดเชื้อให้หายโดยเร็วที่สุด เพื่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังคนได้อีก
    • หากออกไปทำธุระนอกบ้าน ควรอาบน้ำทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก หรือสัมผัสกับร่างกายบุคคลอื่น
    • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกนหนวด หวี ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อราแมว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา