backup og meta

แบคทีเรียกินเนื้อ หรือ Necrotizing fasciitis คือ อะไร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    แบคทีเรียกินเนื้อ หรือ Necrotizing fasciitis คือ อะไร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา

    Necrotizing fasciitis คือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ยากแต่ร้ายแรงมาก ส่งผลต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้มีอาการบวม แดง และปวดรุนแรง หากไม่รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเนื้อตาย รวมไปถึงอาจทำให้ร่างกายช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ Necrotizing fasciitis หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อมักแสดงอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน หากพบว่ามีอาการเข้าข่ายว่าอาจเป็นโรคนี้ จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

    Necrotizing fasciitis คือ โรคอะไร

    Necrotizing fasciitis หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังชั้นที่ลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อและพังผืดโดยรอบ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคไต หรือเป็นโรคตับแข็ง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การติดเชื้ออาจแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง สับสน ไปจนถึงช็อก ซึ่งอาการอาจรุนแรงจนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ การวินิจฉัยโรคและการรักษาตั้งแต่ระยะต้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ จึงควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

    สาเหตุของ Necrotizing fasciitis

    โรคแบคทีเรียกินเนื้อส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น โรคคอหอยอักเสบ โรคหัวใจรูมาติก โดยชื่อเรียกโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคกินเนื้อไม่ได้มาจากการกัดกินเนื้อของแบคทีเรีย แต่มาจากการที่แบคทีเรียชนิดนี้ปล่อยสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อของผิวหนังและกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณนั้น โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้ามาทางผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นแผลจากการผ่าตัด รอยฉีดยา รอยข่วน หรือแม้กระทั่งแผลทั่วไปที่เกิดได้ในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นรอยแดงที่กดแล้วรู้สึกเจ็บ และจะรู้สึกเจ็บแผลมากกว่าแผลเดิมที่เป็นอยู่แล้ว โดยผิวหนังที่ติดเชื้ออาจลุกลามไปบริเวณใกล้เคียงได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

    อาการของ Necrotizing fasciitis

    อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นตามระดับการติดเชื้อที่ลุกลาม จึงควรไปพบคุณหมอทันทีที่แผลบวม ปวดแสบร้อน โดยอาการเริ่มต้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อจะมีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย อาการที่พบอาจมีดังนี้

  • มีไข้สูงต่อเนื่อง หรืออุณหภูมิในร่างกายอาจลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ซึ่งเป็นภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว จนอุณหภูมิร่างกายน้อยกว่า 35 องศาเซลเซียส และอาจเกิดภาวะขาดน้ำด้วย
  • รู้สึกเจ็บบริเวณแผลมากกว่าแผลเดิมที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
  • บริเวณที่ติดเชื้ออาจมีลักษณะลื่นมัน บวม แดง และร้อนมากเมื่อสัมผัส
  • เนื้ออาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีคล้ำ เป็นรอยด่างดำ
  • เกิดเป็นแผลพุพอง ตุ่มน้ำ
  • หากโรคลุกลามถึงขั้นรุนแรงอาจทำให้รู้สึกชา และเส้นประสาทไม่ทำงานอีกต่อไป จนเกิดเป็นเนื้อตาย
  • อาจเกิดการช็อก ภาวะเลือดเป็นพิษ ภาวะอวัยวะล้มเหลว เช่น ไต ตับ ปอด และอาจเสียชีวิตได้
  • วิธีการรักษา Necrotizing fasciitis

    ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยทันทีที่ตรวจพบว่าเป็นโรค Necrotizing fasciitis หรือแบคทีเรียกินเนื้อ และอาจต้องใช้การรักษาหลายวิธีและใช้เวลาหลายสัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น ขอบเขตของการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคเมื่อเริ่มการรักษา โดยวิธีรักษาอาจมีดังนี้

  • การให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำโดยตรง
  • การผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก ในกรณีที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขาที่ติดเชื้อออกเพื่อป้องกันเชื้อลุกลามไปส่วนอื่นของร่างกาย
  • การรักษาประคับประคอง (Supportive treatment) เป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต รักษาระดับของเหลวในร่างกาย และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
  • วิธีป้องกันไม่ให้เกิด Necrotizing fasciitis

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ อาจทำได้ดังนี้

  • หากร่างกายมีแผลควรรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว ให้ล้างแผลแบบให้น้ำไหลผ่าน แล้วเช็ดหรือซับแผลเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาดให้แผลแห้ง
  • รักษาบาดแผลให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ เมื่อแผลแห้งแล้วควรปิดด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อ เช่น พลาสเตอร์ และเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อเปียกหรือสกปรก
  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือล้างมือด้วยเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • รักษาโรคติดเชื้อทางผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า ให้หายสนิท อย่าปล่อยไว้โดยไม่รักษา เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อ
  • หากมีแผลเปิดควรหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น อ่างน้ำร้อน สระว่ายน้ำ ทะเล น้ำตก แม่น้ำ โดยเฉพาะหากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดบาดแผลบนร่างกาย และหากเกิดแผล ควรดูแลแผลให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา