backup og meta

ลมพิษเกิดจากอะไร อาการ และการรักษา

ลมพิษเกิดจากอะไร อาการ และการรักษา
ลมพิษเกิดจากอะไร อาการ และการรักษา

ลมพิษ เป็นผื่นผิวหนังที่มักเกิดจากการแพ้อาหาร เช่น ถั่ว ไข่ นม ยา เช่น ยาแอสไพริน การติดเชื้อ ความร้อน แรงเสียดสี ซึ่งอาจทำให้มีผื่นแดงที่ผิวหนังกระจายเป็นวงกว้าง และมีอาการคัน อาการอาจหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจกำเริบได้เมื่อถูกกระตุ้น การทราบว่า ลมพิษเกิดจากอะไร อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงสาเหตุนั้น ๆ ได้ ช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้

คำจำกัดความ

ลมพิษเกิดจากอะไร

ลมพิษ เป็นอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหาร ยาบางชนิด การติดเชื้อ แสงแดด ความร้อน แรงเสียดสี โดยลมพิษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลมพิษเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ และลมพิษเรื้อรัง ที่อาจเกิดขึ้นนานกว่า 6 สัปดาห์ อาจทำให้มีอาการคัน ผื่นหรือตุ่มนูนแดง กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งอาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นเรื้อรังอาจรบกวนการใช้ชีวิต การนอนหลับได้ นอกจากนี้ ในบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคภูมิแพ้ ที่อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ริมฝีปาก เปลือกตาและลิ้นบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรงที่ควรเข้ารับการรักษาโดยด่วน

อาการ

อาการลมพิษ

อาการลมพิษที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • ผื่นคันสีชมพูหรือสีแดง
  • ผื่นเป็นรูปวงกลมหรือวงรีกระจายเป็นวงกว้าง มักเกิดขึ้นที่ใบหน้า แขนขา มือ นิ้ว เท้า และนิ้วเท้า
  • ผื่นจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจขึ้นซ้ำได้

หากผื่นไม่หายไปภายใน 48 ชั่วโมง อาการรุนแรงขึ้น รบกวนการใช้ชีวิต หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ หายใจมีเสียงหวีดแน่นหน้าอก ลิ้น ปาก หรือใบหน้าบวม ควรรีบเข้ารับการรักษาทันที

สาเหตุ

สาเหตุลมพิษ     

ลมพิษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือลมพิษเฉียบพลันและลมพิษเรื้อรัง ดังนี้

1. ลมพิษเฉียบพลัน

ลมพิษเฉียบพลันเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักมีสาเหตุมาจากอาหาร ยาบางชนิด และการติดเชื้อจากแมลงกัดต่อยหรือโรคติดเชื้อบางชนิด

อาหารที่ทำให้เกิดลมพิษมักเป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก มีวัตถุเจือปนอาหาร และสารกันบูด เช่น ถั่ว ช็อกโกแลต ปลา มะเขือเทศ ไข่ เบอร์รี่สด นม

ยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดลมพิษ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยารักษาความดันโลหิตสูง เช่น สารยับยั้งเอซีอี (ACE inhibitors) และยาแก้ปวด เช่น โคเดอีน (Codeine)

2. ลมพิษเรื้อรัง

ลมพิษเรื้อรังเกิดขึ้นนานกว่า 6 สัปดาห์ มักระบุสาเหตุได้ยาก อาจมีสาเหตุเดียวกับลมพิษเฉียบพลัน หรืออาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคไวรัสตับอักเสบติดเชื้อ หรือโรคมะเร็ง ลมพิษอักเสบเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด กล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร รวมถึงอาจทำให้มีอาการหายใจถี่ ปวดกล้ามเนื้อ และท้องเสีย

นอกจากนี้ ยังมีลมพิษทางกายภาพซึ่งเป็นลมพิษที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น ความเย็น ความร้อน แสงแดด การเสียดสี แรงกดบนผิวหนัง ภาวะเหงื่อออกมาก โดยมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่ถูกกระตุ้น และสามารถหายไปเองได้ภายใน 1 ชั่วโมง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงลมพิษ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดลมพิษ มีดังนี้

  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ถั่ว หอย ไข่ นม ละอองเกสร
  • สิ่งกระตุ้น เช่น เหงื่อ ความร้อน แรงเสียดสี ความเครียด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน สารยับยั้งเอซีอี ยาโคเดอีน
  • สารเคมี
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยลมพิษ

การวินิจฉัยว่าลมพิษเกิดจากอะไร คุณหมออาจซักประวัติสุขภาพ การใช้ยา อาหาร และอาการ รวมถึงตรวจอาการที่แสดงบนผิวหนัง นอกจากนี้ คุณหมออาจทดสอบเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ทดสอบทางผิวหนังเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้

การรักษาลมพิษ

ลมพิษสามารถรักษาได้ด้วยยาที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น คุณหมออาจแนะนำยาชนิดอื่นที่เหมาะสมกับอาการเพิ่มเติม ดังนี้

ยาแก้แพ้ ช่วยป้องกันร่างกายปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่

หากรักษาด้วยยาเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น คุณหมออาจสั่งยาชนิดอื่นเพิ่ม เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ด็อกเซปิน (Doxepin) แต่อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงนอน

ยาอื่น ๆ ใช้รักษาอาการลมพิษเมื่อยาต้านฮีสตามีนไม่สามารถบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • ตัวบล็อกฮีสตามีน (H-2) แบบฉีดหรือรับประทาน เช่น ซิเมทิดีน (Cimetidine) ฟาโมทิดีน (Famotidine)
  • ยาต้านการอักเสบ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ช่วยลดอาการบวม รอยแดง และอาการคัน มักใช้ควบคุมลมพิษรุนแรงหรือภูมิแพ้ หากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาด็อกเซปินแบบครีม ช่วยบรรเทาอาการคัน อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงนอน
  • ยารักษาโรคหอบหืดกับยาแก้แพ้ เช่น มอนเทลูคาสท์ (Montelukast) ซาฟิร์ลูคาสท์ (Zafirlukast)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus)

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับลมพิษ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันลมพิษได้

  • สวมเสื้อผ้าที่หลวม โปร่ง และระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือใช้สบู่ที่รุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้
  • หากมีอาการลมพิษ อาจบรรเทาเองด้วยการแช่น้ำในอ่างอาบน้ำ เปิดพัดลม ประคบหรือเช็ดด้วยผ้าเย็น ทาโลชั่นหรือครีมแก้คัน เป็นต้น
  • จดบันทึกว่าลมพิษเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร อาจช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นลมพิษ และสามารถบอกคุณหมอได้เมื่อมีอาการ
  • ทาครีมกันแดดก่อนออกไปข้างนอก เพราะแสงแดดอาจเป็นตัวกระตุ้นลมพิษได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Urticaria (hives). https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/skin-hair-and-nails/urticaria-hives. Accessed November 16, 2021

Chronic hives. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chronic-hives/symptoms-causes/syc-20352719. Accessed November 16, 2021Chronic hives. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chronic-hives/diagnosis-treatment/drc-20352723. Accessed November 16, 2021

Hives and Your Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/hives-urticaria-angioedema. Accessed November 16, 2021

Hives. https://acaai.org/allergies/allergic-conditions/skin-allergy/hives/. Accessed November 16, 2021

URTICARIA. https://www.aocd.org/page/Urticaria. Accessed November 16, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/08/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะผื่นคันต่างๆ และการดูแล

ผื่น อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา