backup og meta

เชื้อราที่ผิวหนังมีอะไรบ้าง และ วิธีป้องกันเชื้อราบนผิวหนัง

เชื้อราที่ผิวหนังมีอะไรบ้าง และ วิธีป้องกันเชื้อราบนผิวหนัง

เชื้อรา เป็นจุลินทรีย์ที่มีสารในผนังเซลล์ที่เรียกว่า ไคติน มีหลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่พบบ่อย เช่น โรคกลาก โรคน้ำกัดเท้า สังคัง การติดเชื้อยีสต์ การติดเชื้อราที่ผิวหนังอาจติดต่อได้ผ่านการสัมผัสผิวหนัง สิ่งของ หรือสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อรา อาจทำให้มีอาการคัน แผลพุพอง ผิวลอก ผิวแตกเป็นขุย หรือเจ็บปวดผิว

เชื้อราที่ผิวหนังคืออะไร

เชื้อราที่ผิวหนัง คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อราหลายชนิด  เช่น เชื้อ Trichophyton Rubrum เชื้อ Dermatophyte ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สิ่งสกปรก พืช บนพื้นผิวของใช้ภายในบ้าน บนผิวหนังของมนุษย์ บางครั้งการติดเชื้อราที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดปัญหาผิว เป็นผื่น ระคายเคือง รอยแตกบนผิวหนัง แผลพุพอง หรืออาการคันได้

โรคที่เกิดจากเชื้อราที่ผิวหนัง

เชื้อราที่ผิวหนังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย ซึ่งประเภทเชื้อราผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคน้ำกัดเท้า สังคัง กลาก เชื้อราที่เล็บ และการติดเชื้อยีสต์ ดังนี้

  1. กลาก

กลากเป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เช่น บนหนังศีรษะ ผม เล็บ กลากเป็นโรคติดต่อสามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสทางผิวของคนสู่คน จากสัตว์เลี้ยง จากวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อรา และจากดิน

อาการ ได้แก่ คัน ผิวแดงเป็นวงกลม ผิวหนังเป็นสะเก็ด แตกเป็นขุย อาจมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น

การรักษา มักใช้ยาต้านเชื้อรา สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ในกรณีที่รุนแรงอาจต้องใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งจ่าย เพื่อทาผิวหนังหรือรับประทานทางปาก

  1. โรคน้ำกัดเท้า

โรคน้ำกัดเท้าเกิดขึ้นจากการติดเชื้อราที่เท้า พบมากที่สุด คือ เชื้อรา Trichophyton Rubrum เนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่อบอุ่นและเปียกชื้น เช่น รองเท้า ถุงเท้า สระว่ายน้ำ พื้นห้องน้ำ โรคนี้พบบ่อยในฤดูร้อนและสภาพอากาศร้อนชื้น รวมทั้งผู้ที่สวมใส่รองเท้าที่คับแน่น ไม่ระบายอากาศ ไม่เปลี่ยนถุงเท้า รวมถึงการใช้ห้องน้ำหรือสระว่ายน้ำสาธารณะ

โรคน้ำกัดเท้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • อินเตอร์ดิจิตอล (Interdigital) เป็นการติดเชื้อที่ง่ามนิ้วเท้า เป็นขุย และคัน ซึ่งอาจแพร่กระจายไปตามฝ่าเท้าได้เช่นกัน
  • มอคคาซิน (Moccasin) ระคายเคือง แห้งกร้าน คัน หรือผิวหนังเป็นสะเก็ด หากปล่อยไว้ผิวอาจหนาและแตกได้ อาจแพร่กระจายไปตามฝ่าเท้าและด้านข้างเท้า
  • เวซิคูลาร์ (Vesicular) มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ มักเกิดขึ้นใต้ฝ่าเท้า และยังสามารถเกิดขึ้นระหว่างนิ้วเท้า ส้นเท้า หรือหลังเท้า

อาการ ได้แก่ ผิวลอก แตกเป็นขุย แผลพุพอง ผิวแดง แสบร้อนที่ผิว และคัน

การรักษา ในเบื้องต้นคุณหมออาจให้ยาต้านเชื้อรา เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) อีโคนาโซล (Econazole) หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)

  1. สังคัง

สังคังเกิดขึ้นจากการติดเชื้อราที่อวัยวะเพศ เนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในที่อบอุ่นและอับชื้น โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน และก้น เกิดขึ้นบ่อยขึ้นในฤดูร้อนหรือในสภาพอากาศที่อบอุ่นและเปียกชื้น สังคังสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อรา

อาการ ได้แก่ คัน เป็นแผล แสบร้อนบริเวณขาหนีบ ผื่นแดงลักษณะวงกลมขอบนูน ผิวลอกหรือแตก

การรักษา ล้างและทำความสะอาดบริเวณที่เป็นสังคังอยู่เสมอ โดยใช้สบู่สูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม ล้างบริเวณผิวหนังภายนอกและล้างบริเวณรอบหัวหน่าวของอวัยวะเพศชาย จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเปล่า พยายามทำให้บริเวณที่เป็นสังคังแห้งสนิทไม่อับชื้น และใช้ยาต้านเชื้อราตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) อีโคนาโซล (Econazole)

  1. เชื้อราที่เล็บ

เชื้อราที่เล็บเกิดจากเชื้อราหลายชนิด พบบ่อยที่สุด คือ เชื้อรา Dermatophyte ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เล็บ พบมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นเล็บจะเปราะ แห้ง และบางลง ทำให้เชื้อราเข้าไปได้ง่าย นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น เช่น ผู้ที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า การไหลเวียดเลือดไม่ดี ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

อาการ ได้แก่ เล็บหนา เล็บเปลี่ยนสีเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาล เล็บเปราะ แห้ง บาง รูปร่างบิดเบี้ยว อาจมีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย

การรักษา การรักษาเชื้อราที่เล็บอาจขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นเป็นหลัก โดยคุณหมออาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือยาทาไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ยาใช้ภายนอกเพื่อช่วยต้านเชื้อรา

  1. การติดเชื้อยีสต์

การติดเชื้อยีสต์เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) เป็นโรคไม่ติดต่อ มักเกิดขึ้นในบริเวณที่อบอุ่น เปียกชื้น และบริเวณรอยพับ โดยเฉพาะรักแร้และขาหนีบ พบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือผู้ที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อราแคนดิดาอาจทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมในทารก นอกจากนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในเล็บ ช่องคลอด หรือปาก

อาการ ได้แก่ ผื่น ของเหลวไหลจากแผล ตุ่มหนอง คัน และแสบร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ

อาการติดเชื้อราในปาก ได้แก่ จุดสีขาวบนลิ้น  และภายในแก้ม ความเจ็บปวด

อาการติดเชื้อราในช่องคลอด ได้แก่ ตกขาวสีเหลือง เขียว คัน อวัยวะเพศภายนอกแดง แสบร้อน

การรักษา ขึ้นอยู่กับบริเวณของการติดเชื้อรา คุณหมออาจให้ยาต้านเชื้อราประเภทเดียวกับการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอื่น เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) อีโคนาโซล (Econazole) หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) สำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอดคุณหมออาจให้ยาเหน็บต้านเชื้อรา

วิธีป้องกันเชื้อราบนผิวหนัง

การป้องกันเชื้อราบนผิวหนังทุกชนิดอาจมีแนวทางปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

  • รักษาความสะอาดบนผิวหนัง อาบน้ำเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือเมื่อร่างกายมีเหงื่อมาก
  • หลังอาบน้ำหรือหลังเข้าห้องน้ำ ควรรักษาบริเวณที่อับชื้นบนผิวหนังให้แห้งสนิทอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ขาหนีบ หรือซอกนิ้วเท้า
  • หลักเลี่ยงการเกาผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อเพิ่มเติมได้
  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน โดยเฉพาะกางเกงชั้นใน
  • ไม่เดินเท้าเปล่าเมื่ออยู่นอกบ้าน เพราะเชื้อราอาจอาศัยอยู่ตามพื้น
  • ใส่รองเท้าที่พอดี ไม่คับแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันการอับชื้นซึ่งเป็นที่อาศัยของเชื้อรา
  • เปลี่ยนถุงเท้าเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเท้ามีเหงื่อออก และซักถุงเท้า รองเท้าให้สะอาด ตากให้แห้งสนิทเพื่อลดการสะสมของเชื้อรา
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราหรือยารักษาตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อบรรเทาอาการและรักษาสาเหตุของอาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Fungal Infections of the Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/fungal-infections-skin. Accessed November 15, 2021

Fungal skin infections. https://www.bupa.co.uk/health-information/healthy-skin/fungal-skin-infections. Accessed November 15, 2021

Athlete’s foot. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/athletes-foot/diagnosis-treatment/drc-20353847. Accessed November 15, 2021

Athlete’s foot. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/athletes-foot/symptoms-causes/syc-20353841. Accessed November 15, 2021

Jock Itch. https://www.webmd.com/men/causes-and-prevent-jock-itch. Accessed November 15, 2021

What You Should Know About Ringworm. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-you-should-know-about-ringworm. Accessed November 15, 2021

Nail fungus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nail-fungus/symptoms-causes/syc-20353294. Accessed November 15, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/08/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เคล็ดลับการ ป้องกันเชื้อราที่เล็บเท้า อย่างง่ายๆ และได้ผล

การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ปัญหาผิวใกล้ตัว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา