backup og meta

เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เกิดจากสาเหตุใด รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เกิดจากสาเหตุใด รักษาได้อย่างไร

    โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่ได้พบบ่อย โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยกลางคน ผู้ที่เป็น เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ อาจมีขุยสีขาวหรือเหลืองหลุดลอก หนังศีรษะแดง และมีอาการคัน ระคายเคือง โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แชมพูน้ำมันดิน ยาทาเสตียรอย เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงภายในไม่สัปดาห์หลังรักษา แต่หากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ คืออะไร

    เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย ทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ด หลุดลอกเป็นแผ่น หรือเป็นขุยเล็ก ๆ สีขาวหรือสีเหลือง มีรอยแดงและอาจจะมีอาการคัน และอาจมีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) อาการทางผิวหนังที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้

    อาการของโรคเซ็บเดิร์มพบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นรังแคได้ แต่โรคเซ็บเดิร์มต่างจากรังแคตรงที่สามารถพบที่ผิวหนังบริเวณอื่นที่มีไขมันมากได้เช่นกัน เช่น ใบหน้า หน้าอก รักแร้ หลัง รอบสะโพก ขาหนีบ และเซ็บเดิร์มจะทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบอย่างอาการบวมแดงร่วมด้วย ในขณะที่รังแคเป็นเพียงสะเก็ดหนังศีรษะที่หลุดลอก บางครั้งอาการเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะและรังแคจะรักษาด้วยวิธีเดียวกัน แต่คุณหมอผิวหนังอาจเพิ่มการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเซ็บเดิร์มที่ผิวหนังส่วนอื่น ๆ ด้วย

    เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เกิดจากสาเหตุใด

    ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเซ็บเดิร์มได้ แต่ทารกแรกเกิดจะเสี่ยงในการเกิดเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะ ที่เรียกว่า ไขบนหนังศีรษะทารกหรือเครเดิลแคป (Cradle Cap) ได้ง่าย และมักพบได้ในผู้ใหญ่อายุ 30-60 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพผิวมัน และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเซ็บเดิร์ม

    • ความเครียด
    • การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ
    • พันธุกรรม
    • เชื้อยีสต์ที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะและผิวหนัง
    • สภาพอากาศหนาวและแห้ง
    • ปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน
    • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น สิว การติดเชื้อเอชไอวี โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า โรคการกินผิดปกติ โรคลมชัก ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

    อาการเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ

    อาการเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ อาจมีดังนี้

    • หนังศีรษะหลุดลอกเป็นแผ่น
    • มีขุยขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองกระจายบริเวณหนังศีรษะ
    • หนังศีรษะบวม แดง คัน หรือระคายเคือง

    ยารักษาเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ มีอะไรบ้าง

    ยารักษาเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ อาจมีดังนี้

    • ยาลอกขุย (Keratolytic agents) เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดแลกติกหรือกรดน้ำนม (Lactic acid) ยูเรีย (Urea) ที่ออกฤทธิ์กำจัดขุยและสะเก็ดบนหนังศีรษะเพื่อให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วนุ่มลงและหลุดลอกออกโดยง่าย
    • ยาต้านเชื้อราชนิดใช้ภายนอก (Topical antifungal drugs) เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulfide) ในรูปแบบครีมหรือแชมพู ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เพื่อรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) โดยควรใช้แชมพูสระผมต้านเชื้อราวันละครั้ง หรือ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้ใช้เพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือทุก ๆ 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้การใช้คีโตโคนาโซลอาจทำให้ผมที่ผ่านสารเคมีหรือผ่านการทำสีแห้งขึ้นได้ จึงควรใช้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งร่วมกับการใช้ครีมนวดผมเพื่อให้ผมชุ่มชื้น
    • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) โคลเบทาซอล (Clobetasol) เพื่อรักษาอาการผิวหนังอักเสบที่มีอาการคันร่วมด้วย โดยใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 1-3 สัปดาห์
    • ยาทากลุ่มยับยั้งแคลซินิวริน (Topical calcineurin inhibitors) เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และลดอาการบวมแดงของหนังศีรษะ สามารถใช้แทนยาทาเสตียรอยเพื่อควบคุมอาการผื่นที่ดีขึ้นแล้วได้
    • แชมพูน้ำมันดิน (Tar Shampoo) ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ ให้สระผมด้วยแชมพูน้ำมันดินแล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีค่อยล้างออก ใช้ประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์ น้ำมันดินอาจทำให้ผมแห้งได้ จึงควรใช้ครีมนวดผมหรือทรีตเมนต์หลังสระผมด้วย

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการต่อไปนี้ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือบุคลากรทางแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • อาการของเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะรุนแรงจนรบกวนการนอนหลับหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
    • เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังด้วย
    • เมื่อรักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา