backup og meta

เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ เป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ เป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

    เชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อราบางชนิด เช่น เชื้อราแคนดิไดอะซิส (Candidiasis) เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) เชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด เช่น โรคเซ็บเดิร์ม โรคสะเก็ดเงิน เมื่อเป็น เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ ที่พบได้ทั่วไป คือ ผิวหนังบริเวณหนังศีรษะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ด อาจจะมีลักษณะเป็นวง ๆ ได้ ร่วมกับมีอาการคัน ระคายเคือง ผื่นแดง ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ หรืออาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้

    เชื้อราบนหนังศีรษะสามารถรักษาได้ด้วยการใช้แชมพูฆ่าเชื้อราร่วมกับน้ำยาละลายขุย การรับประทานยาฆ่าเชื้อราตามที่คุณหมอสั่ง ร่วมกับการรักษาความสะอาดของหนังศีรษะด้วยการสระผมเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้หนังศีรษะเปียกชื้น หลีกเลี่ยงการแบ่งปันของส่วนตัว เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หมวก ร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นและป้องกันการติดเชื้อราซ้ำในภายหลัง หมั่นพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพผิวว่ามีการติดเชื้อราหรือไม่เพราะ สัตว์เลี้ยงเป็นแหล่งของเชื้อราที่พบได้บ่อยว่ามีการติดต่อมายังมนุษย์

    เชื้อราบนหนังศีรษะ สาเหตุมาจากอะไร

    เชื้อราบนหนังศีรษะ เกิดจากเชื้อราบริเวณหนังศีรษะเจริญเติบโตมากผิดปกติ จนส่งผลต่อการผลัดตัวของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นขุยขาว มีอาการคัน ผื่นแดง และระคายเคืองหนังศีรษะ โดยเชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังดังต่อไปนี้

    • โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea capitis) โรคกลากชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อราไตรโคไฟตอน (Trichophyton) มักทำให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะเป็นสะเก็ด ศีรษะล้านเป็นหย่อม สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้ของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน หมวก ผ้าเช็ดตัว หวี ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคกลาก
    • โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคที่มีภาวะต่อมไขมันในชั้นผิวหนังอักเสบ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นบางประการ เช่น การติดเชื้อยีสต์ การติดเชื้อรามาลาสซีเซีย อากาศร้อน ความแปรปรวนของฮอร์โมนความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
    • โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Malassezia Folliculitis) หรือที่มักเรียกว่าสิวเชื้อราหรือสิวยีสต์ มักเกิดจากเชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่มมาลาสซีเซีย ทำให้รูขุมขนอักเสบหรือติดเชื้อ เกิดตุ่มหนองเล็ก ๆ ขึ้นเป็นหย่อม หรืออาจพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียพีแอคเน่ (P. acnes) ที่ทำให้เกิดสิว ในกรณีที่ไม่รุนแรงสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา
    • โรคติดเชื้อแคนดิดา (Candida infection) การติดเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albican) บนหนังศีรษะ

    เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ เป็นอย่างไร

    เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ อาจมีดังนี้

    • อาการเชื้อราบนหนังศีรษะจากโรคกลาก อาจเริ่มจากตุ่มหรือแผลเล็ก ๆ ก่อนจะกลายเป็นขุยหรือเกล็ด ผื่นแดงเป็นปื้น ตุ่มคันและผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ในบริเวณที่ติดเชื้อ
    • อาการเชื้อราบนหนังศีรษะที่เกิดจากโรคเซ็บเดิร์ม อาจทำให้หนังศีรษะมันเยิ้มหรือมีขุยผิวหนังแห้งลอก เกิดเป็นขุยขาวจำนวนมากตามไรผม ร่วมกับมีรอยแดง ผื่นคัน หรือสะเก็ดบนหนังศีรษะ
    • อาการผื่นบนหนังศีรษะจากภาวะต่อมไขมันอักเสบในทารก (Seborrheic Dermatitis หรือ Cradle cap) พบว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อยีสต์ มักพบในทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนแรก อาจทำให้มีขุยไขมันเป็นแผ่นสีขาวหรือขาวอมเหลืองบนหนังศีรษะ โดยทั่วไปแล้วอาการจะไม่รุนแรงและอาจหายไปเองได้เมื่ออายุเกิน 1 ปี
    • อาการเชื้อราบนหนังศีรษะจากโรครูขุมขนอักเสบ อาจทำให้เกิดตุ่มแดงหรือตุ่มหนองเล็ก ๆ รอบรูขุมขน หนังศีรษะแสบคัน มีแผลตกสะเก็ดที่หนังศีรษะ

    วิธีรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะ

    วิธีรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจรักษาได้ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อรา ดังนี้

    • ภาวะต่อมไขมันอักเสบในทารก อาจรักษาด้วยการใช้ออยล์บำรุงผิวสำหรับเด็กถูบริเวณหนังศีรษะที่มีขุยเพื่อให้ขุยหลุดลอกออก หลังจากนั้นให้สระผมด้วยแชมพูเด็กสูตรอ่อนโยน แล้วใช้แปรงขนอ่อนแปรงหนังศีรษะเบา ๆ เพื่อจำกัดขุย หากรักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอ
    • โรคเซ็บเดิร์ม อาจรักษาด้วยการใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) และอาจบรรเทาอาการคันด้วยการใช้แชมพูลดอาการคันที่มีซิงค์ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) ซิงค์โอมาดีน (Zinc omadine) ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulphide)
    • โรคกลาก อาจรักษาด้วยการรับประทานยา เช่น กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ตามที่คุณหมอแนะนำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบโดส เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อราบนหนังศีรษะ นอกจากนี้ อาจใช้แชมพูต้านเชื้อราเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิด และควรหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
    • การติดเชื้อแคนดิคา อาจรักษาได้ด้วยการใช้แชมพู โฟม หรือครีมต้านเชื้อราที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล หรือโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) และควรดูแลหนังศีรษะและเส้นผมให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อราซ้ำในภายหลัง

    การป้องกันเชื้อราบนหนังศีรษะ

    การป้องกันเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจทำได้ดังนี้

    • ควรสระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของไขมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วบนหนังศีรษะ และควรเลือกแชมพูให้เหมาะกับสภาพหนังศีรษะและเส้นผม หากใช้แล้วผมมันหรือมีรังแค ควรเปลี่ยนเป็นแชมพูหรือเลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน
    • หลังอาบน้ำและสระผม ควรเช็ดหรือเป่าผมและหนังศีรษะให้แห้งสนิท ไม่ปล่อยให้หนังศีรษะเปียกชื้นเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อราและลดการเกิดรังแค
    • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรง หวี เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว หมวกกันน็อค หมวกเล่นกีฬา หมวกนิรภัย
    • ล้างมือให้สะอาดโดยเฉพาะก่อนและหลังใช้ห้องน้ำ สัมผัสน้ำท่วมขังหรือพื้นที่เสี่ยงมีเชื้อราสะสม หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อรา ดูแลที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ หากสัตว์เลี้ยงเป็นโรคผิวหนังควรพาไปรักษาให้หายสนิทเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา