backup og meta

โรคมนุษย์หมาป่า คืออะไร มีสาเหตุ และวิธีรักษาอย่างไร

โรคมนุษย์หมาป่า คืออะไร มีสาเหตุ และวิธีรักษาอย่างไร

โรคมนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis หรือ Werewolf Syndrome) เป็นโรคหายากที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของขนในร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจเป็นโรคนี้แต่กำเนิด หรือเป็นตอนโตก็ได้

คำจำกัดความ

โรค มนุษย์หมาป่า คืออะไร

โรคมนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis หรือ Werewolf Syndrome) เป็นโรคหายากที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของขนในร่างกาย คือ มีขนขึ้นมากเกินไป พบได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยขนที่ขึ้นอาจปกคลุมทั่วบริเวณ หรือขึ้นเป็นหย่อม ๆ และผู้ป่วยอาจป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นตอนโตแล้วก็ได้

โรคมนุษย์หมาป่า พบบ่อยแค่ไหน

โรคมนุษย์หมาป่าเป็นโรคหายาก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และผู้คนมักสับสนระหว่างโรคมนุษย์หมาป่ากับภาวะขนดก (Hirsutism) แต่ข้อแตกต่างระหว่างโรคมนุษย์หมาป่ากับภาวะขนดก ก็คือ โรคมนุษย์หมาป่าเป็นโรคหายาก พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และสามารถพบขนขึ้นดกได้ทุกบริเวณของร่างกาย แต่ภาวะขนดก จะพบในผู้หญิง และสามารถพบได้ทั่วไป โดยผู้ป่วยจะมีขนเส้นใหญ่ หยาบ ขึ้นในบริเวณที่ผู้ชายมักมีขนขึ้นแต่ผู้หญิงไม่ค่อยมี เช่น คาง

อาการ

อาการของโรคมนุษย์หมาป่า

อาการทั่วไปของ โรคมนุษย์หมาป่า ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมนุษย์หมาป่าที่เป็น โดยชนิดของโรคมนุษย์หมาป่านั้นเกี่ยวข้องกับขน 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

ขนลานูโก (Lanugo hair)

เป็นเส้นขนชุดแรกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ มีลักษณะคือ เป็นเส้นขนขนาดเล็ก เส้นยาว อ่อนนุ่ม มักมีสีอ่อนหรือสีจาง ทารกส่วนใหญ่จะมีขนอ่อนนี้ขึ้นตามร่างกาย โดยขนก็จะหลุดร่วงไปเองภายใน 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์หลังลืมตาดูโลก แต่ในผู้ที่เป็นโรคมนุษย์หมาป่า ขนอ่อนนี้จะยังคงอยู่ เว้นแต่จะได้รับการรักษาหรือจำกัดขนออก

ขนเวลลัส (Vellus hair)

ขนอ่อนที่เกิดขึ้นแทนขนลานูโก มีลักษณะคือ เป็นเส้นสั้น อ่อนนุ่ม รากขนสั้น (ความยาวรากขนน้อยกว่า 1/13 ของความยาวเส้นขน) ขนอ่อนนี้พบได้ในทุกบริเวณที่มีรูขุมขน ยกเว้นฝ่าเท้า หลังหู ริมฝีปาก ฝ่ามือ รอยแผลเป็น เพราะไม่มีรูขุมขน

ขนเทอร์มินัล (Terminal hair)

ลักษณะเป็นขนเส้นหนา หยาบ ยาว และมีสีเข้มที่สุดในบรรดาขนทั้งสามชนิด มักขึ้นตามใบหน้า รักแร้ ศีรษะ และอวัยวะเพศ

ชนิดของโรคมนุษย์หมาป่านั้นมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาในการเกิดโรคและประเภทของขนดังที่กล่าวไป สามารถเป็นโรคมนุษย์หมาป่าตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลังก็ได้ ที่พบได้บ่อย เช่น

Congenital hypertrichosis lanuginose

โรคมนุษย์หมาแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับขนลานูโก กล่าวคือ แทนที่ขนลานูโกจะหลุดร่วงไปหลังคลอด กลับขึ้นดกขึ้นในหลายบริเวณของร่างกายไปตลอดชีวิต

Congenital hypertrichosis terminalis

โรคมนุษย์หมาป่าแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับขนเทอร์มินัล กล่าวคือ แทนที่ทารกแรกเกิดจะมีขนอ่อนอย่างขนลานูโกหรือขนเวลลัส กลับมีขนเทอร์มินัลซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นหนา หยาบ เส้นใหญ่ และมีสีเข้มขึ้นปกคลุมร่างกาย รวมถึงบนในหน้าด้วย

Acquired hypertrichosis

โรคมนุษย์หมาป่าที่เป็นตอนโต โรคนี้อาจมีรูปแบบเดียวกับโรคมนุษย์หมาป่าแต่กำเนิด โดยสามารถพบความผิดปกติกับขนชนิดลานูโก เวลลัส หรือเทอร์มินัลก็ได้ และขนอาจขึ้นเป็นหย่อม ๆ หรือขึ้นปกคลุมทั่วร่างกายก็ได้

Naevoid hypertrichosis

เป็นโรคมนุษย์หมาป่าที่ทำให้ขนเทอร์มินัลขึ้นดกดำเป็นหย่อม ๆ หรือเฉพาะจุด เช่น ขนคิ้วขึ้นและเชื่อมต่อกันเป็นแพ เหมือนเป็นคิ้วอันเดียว

อาการอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไปของโรคมนุษย์หมาป่า คือ เหงือกและฟันผิดปกติ เช่น ฟันหลุด เหงือกบวม

สาเหตุ

สาเหตุของโรคมนุษย์หมาป่า

ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคมนุษย์หมาป่าแต่กำเนิดเกิดจากสาเหตุใด แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่โรคมนุษย์หมาป่าตอนโตสามารถหาสาเหตุได้ง่ายกว่า เช่น หากผู้ป่วยเป็นโรคการกินผิดปกติอย่างโรคกลัวอ้วน หรืออะนอเร็กเซีย (Anorexia nervosa) ก็อาจทำให้น้ำหนักลดลงมาก จนร่างกายซูบผอม เมื่อปริมาณไขมันในร่างกายลดลง ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการสร้างขนลานูโกขึ้นมาปกคลุมเพื่อไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป หรือหนาวเกินไป เพราะโดนปกติแล้วไขมันจะคอยช่วยให้ร่างกายอบอุ่นนั่นเอง

โรคมนุษย์หมาป่าตอนโตอาจเกิดจากสภาวะโรคดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly)
  • โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen simplex chronicus)
  • โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis)
  • ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด
  • โรคการกินผิดปกติ หรือขาดสารอาหาร
  • โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม
  • การไหลเวียนเลือดเปลี่ยนแปลง หรือมีแรงฝืดที่ผิวหนังมากขึ้น เช่น เวลาที่ต้องใส่เฝือกเพราะแขนหัก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมนุษย์หมาป่า

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมนุษย์หมาป่าอาจเพิ่มขึ้น หากมีภาวะดังต่อไปนี้

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมนุษย์หมาป่า
  • ป่วยเป็นโรคบางชนิด ซึ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมนุษย์หมาป่า
  • ใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้เป็นโรคมนุษย์หมาป่าได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคมนุษย์หมาป่า

โรคมนุษย์หมาป่าจัดเป็นโรคที่พบได้ยากมาก หากผู้ป่วยมีรูปแบบการเจริญเติบโตของขนผิดปกติตั้งแต่กำเนิด คุณหมอก็สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยง่ายว่าเป็นโรคมนุษย์หมาป่าโดยกำเนิดหรือไม่ ยิ่งหากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ ก็ยิ่งช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

การวินิจฉัยบางครั้ง คุณหมออาจต้องตรวจดูตัวอย่างขน รากขน หรือเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาว่ารูปแบบการเจริญเติบโตของคนที่ผิดปกตินั้น ใช่โรคมนุษย์หมาป่าหรือไม่

หากเป็นโรคมนุษย์หมาป่าที่เป็นตอนโต แพทย์อาจต้องวินิจฉัยหลายขั้นตอนขึ้น เพื่อหาสาเหตุของโรคและวิธีการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาโรคมนุษย์หมาป่า

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคมนุษย์หมาป่า แต่หากคุณหมอทราบว่าโรคมนุษย์หมาป่าที่เป็น เป็นโรคแต่กำเนิดหรือโรคเกิดขึ้นตอนโต ก็อาจช่วยให้คุณหมอสามารถเลือกวิธีรักษาได้เหมาะสมขึ้น เช่น หากผู้ป่วยเป็นโรคมนุษย์หมาป่าเพราะมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะดังกล่าวก่อน หรือหากเป็นโรคมนุษย์หมาป่าเพราะใช้ยารักษาโรคบางชนิด คุณหมออาจต้องสั่งให้หยุดยา ปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนยา

คุณหมออาจสั่งจ่ายยาป้องกันหรือชะลอการเจริญเติบโตของเส้นขนให้ใช้ และผู้ป่วยอาจต้องงดใช้ยาบางชนิด เช่น ไมนอกซิดิล (Minoxidil) เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นขน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับโรคมนุษย์หมาป่า

โรคมนุษย์หมาป่าอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียด วิตกกังวล มีความนับถือตัวเองต่ำ ไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง ยิ่งหากเป็นโรคมนุษย์หมาป่าแต่กำเนิด หรือเป็นตั้งแต่วัยเด็ก ก็อาจโดนคนอื่นล้อเลียน หรือกลั่นแกล้ง จนผู้ป่วยกลัวการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และตัดสินใจปลีกวิเวก หรืออยู่ตัวคนเดียวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับโรคมนุษย์หมาป่าได้

  • เรียนรู้ในการเข้าสังคม และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนในครอบครัว และเพื่อน เมื่อรู้สึกกดดันหรือเครียดเพราะเป็นโรคนี้ จะได้มีคนคอยให้พูดคุยด้วย หรือให้คำปรึกษา
  • หากโรคมนุษย์หมาป่าส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทันที
  • การกำจัดขนด้วยการโกน ถอน แว็กซ์ กำจัดขนด้วยสารเคมี (เช่น ครีมกำจัดขน) หรือย้อมสีขนให้อ่อนลง อาจช่วยเพิ่มความมั่นใจ และทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การกำจัดขนสามารถลดปริมาณเส้นขนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และขนก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งยังอาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดขนคุด ไม่สามารถกำจัดขนในบางบริเวณได้ เป็นต้น ฉะนั้น ก่อนกำจัดขนไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hypertrichosis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK534854/. Accessed February 14, 2022

Hypertrichosis. https://dermnetnz.org/topics/hypertrichosis. Accessed February 14, 2022

Hypertrichosis. https://www.columbiadoctors.org/specialties/dermatology/our-specialties/hair-scalp-disorders/hypertrichosis. Accessed February 14, 2022

Hypertrichosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hirsutism/symptoms-causes/syc-20354935. Accessed February 14, 2022

https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/2865/hypertrichosis-lanuginosa-congenita

Hirsutism and Hypertrichosis. https://www.msdmanuals.com/professional/dermatologic-disorders/hair-disorders/hirsutism-and-hypertrichosis. Accessed February 14, 2022

Congenital Hypertrichosis Lanuginosa. https://emedicine.medscape.com/article/1072987-overview. Accessed February 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/02/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

รูขุมขนอุดตัน สาเหตุที่ก่อให้เกิดสิว

โรคแบตเทน (Batten disease) สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา