backup og meta

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis)

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis)

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดผื่นสะเก็ดแดง ซึ่งเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ประเภทที่พบบ่อยคือ โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา ทำให้ผิวหนังหนา มีผื่นแดง เป็นสะเก็ด มักเกิดบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ ซึ่งอาการอาจคงอยู่เป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ หรือหลายปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากเข้ารับการวินิจฉัยและดูแลอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา คืออะไร

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต่อการผลัดเซลล์ผิว โดยปกติการผลัดเซลล์ผิวของมนุษย์จะใช้เวลา 21-28 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าไปทำลายเซลล์ผิวที่แข็งแรง ส่งผลให้ร่างกายสร้างเซลล์ผิวใหม่อย่างรวดเร็ว คือทุก 4-7 วัน ทำให้ผิวหนังหนาและเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ  อาจมีรอยแดง อาการระคายเคือง ผิวหนังเป็นขุยหรือเป็นสะเก็ด

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด คือประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับโรคสะเก็ดเงินชนิดอื่น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่เป็นโรคติดต่อ และไม่แพร่กระจายโดยการสัมผัส

อาการ

อาการของโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนามักมีอาการ ดังนี้

  • ผิวหนังเป็นหย่อมสีแดง ปกคลุมด้วยเกล็ดสีเงินหนา
  • ผิวหนังมีจุดเกล็ดเล็ก ๆ มักพบในเด็ก
  • ผิวแห้ง แตก อาจมีเลือดออกหรือคัน
  • เล็บหนา เป็นรู หรือเป็นร่อง
  • ข้อบวมและแข็ง

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาสามารถปรากฏได้ทุกที่ในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักปรากฏบนหนังศีรษะ หัวเข่า ข้อศอก และลำตัว โดยส่วนใหญ่ผื่นจะปรากฏอย่างสม่ำเสมอบนร่างกาย ไม่ลุกลามไปบริเวณอื่น

สาเหตุ

สาเหตุของ โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดของโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา โรคนี้อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ตัวเอง ที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายเซลล์ที่แข็งแรง ทำให้เซลล์ผิวใหม่เติบโตเร็วกว่าปกติ และก่อตัวขึ้นเป็นหย่อม ๆ หรืออาจเกิดจากกรรมพันธุ์และปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • กรรมพันธุ์ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มักมีญาติเป็นโรคสะเก็ดเงินด้วย และถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกมีโอกาสเป็นโรคสะเก็ดเงินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50
  • ตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยอาจหายจากอาการโรคสะเก็ดเงินเป็นระยะเวลานาน แต่ปัจจัยแวดล้อมบางอย่างอาจกระตุ้นให้อาการกลับมาได้

อย่างไรก็ตาม โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา ได้แก่

  • ครอบครัว กรรมพันธุ์อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้
  • ความเครียด ความเครียดอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคสะเก็ดเงิน
  • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคสะเก็ดเงิน และอาจเพิ่มความรุนแรงของโรคได้
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ลิเธียม (Lithium) ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาต้านมาลาเรีย
  • การบาดเจ็บที่ผิวหนัง
  • สภาพอากาศ เช่น อากาศหนาว แห้ง
  • การติดเชื้อ เช่น โรคคออักเสบ การติดเชื้อที่ผิวหนัง

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาอาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อม หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

การวินิจฉัย โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

การวินิจฉัยอาการก่อนเริ่มการรักษา มีดังนี้

  • คุณหมออาจสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม และตรวจผิวหนัง หนังศีรษะ และเล็บ
  • เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อตรวจสอบผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะช่วยระบุชนิดของโรคสะเก็ดเงินและความผิดปกติอื่น ๆ

การรักษา โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย ดังนี้

การรักษาเฉพาะที่

  • การบำบัดแบบเกิคเคอร์แมน (Goeckerman) ผสมผสานการบำบัดด้วยน้ำมันดินกับการบำบัดด้วยแสง
  • เรตินอยด์ (Retinoids) เป็นยาในรูปแบบเจลและครีม ทาวันละ 1-2 ครั้ง
  • วิตามินดี เช่น แคลซิพอทรีอีน (Calcipotriene) และ แคลซิทริออล (Calcitriol) ช่วยชะลอการเติบโตของผิว และช่วยลดการระคายเคืองได้
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาในรูปแบบ ขี้ผึ้ง โลชั่น เจล โฟม สเปรย์ และชมพู ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินระดับเบาถึงปานกลาง
  • ยาทากลุ่ม Calcineurin ช่วยลดการอักเสบและการสะสมของคราบจุลินทรีย์
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ช่วยลดขนาดของโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
  • น้ำมันดิน น้ำมันดินช่วยลดการเกิดสะเก็ด อาการคัน และการอักเสบ

การรักษาด้วยแสง

วิธีการรักษาสำหรับโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง แสงที่ใช้รักษา ได้แก่

  • รังสีอัลตราไวโอเลต บี เป็นความยาวคลื่นแสงช่วงกว้าง (Broadband UVB) ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ขยายเป็นวงกว้าง และมีอาการแย่ลง ต่อมาได้มีการการพัฒนาใช้แสงในช่วงความยาวคลื่นแคบลง เรียกว่า Narrowband UVB ข้อดีคืออาจมีประสิทธิภาพการรักษามากกว่า Broadband UVB ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ก่อนการฉายแสงชนิดนี้
  • เลเซอร์เอ็กซ์ไซเมอร์ (Excimer laser) เป็นการรักษาด้วยแสง UVB ที่พุ่งเป้าไปที่ผิวหนังที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น
  • แสงแดด การได้รับแสงแดดเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน อาจช่วยให้โรคสะเก็ดเงินดีขึ้นได้

ยาต้านเชื้อโรค (Systemic drugs)

หากมีอาการโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนารุนแรง คุณหมออาจให้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ผิวหนังเติบโตช้าลง เช่น อะซิเตรติน (Acitretin) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เมโธเทรกเซต (Methotrexate) แต่ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ภาวะซึมเศร้า ก้าวร้าว และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

ยาชีววัตถุ (Biologic drugs)

เป็นยาต้านเชื้อโรคอีกประเภทหนึ่ง ตัวยามีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย หรือป้องกันโปรตีนบางชนิดทำให้เกิดการอักเสบ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่จะช่วยจัดการกับ โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนามักพบได้บ่อยและไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้รับมือกับโรคนี้ได้

  • หลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพ หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรืออาจทำให้อาการแย่ลง เช่น
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ความเครียด
    • อากาศหนาว อากาศแห้ง
    • โรคภูมิแพ้
    • ดูแลความสมดุลของฮอร์โมน
  • อาหาร การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบของโรคได้
  • ดูแลผิว การทามอยส์เจอไรเซอร์อาจช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาให้นุ่มและลดอาการคันได้ ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน
  • ได้รับกำลังใจ โรคสะเก็ดเงินอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึกประหม่าในรูปลักษณ์หรือเครียดเมื่อต้องพบเจอผู้คน บางคนอาจมีอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยจึงควรได้รับกำลังใจและการักษาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางอารมณ์
  • เข้ารับการรักษา เมื่อมีอาการให้รีบเข้ารับการรักษาทันทีและไม่ควรหยุดการรักษา เพราะอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Psoriasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/symptoms-causes/syc-20355840. Accessed August 12, 2022.

What Is Plaque Psoriasis?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/psoriasis/plaque-psoriasis-facts. Accessed August 12, 2022.

Plaque Psoriasis. https://www.psoriasis.org/plaque/. Accessed August 12, 2022.

Treatment & Care. https://www.psoriasis.org/treatment-and-care/. Accessed August 12, 2022.

Topical treatments for chronic plaque psoriasis. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23543539/. Accessed August 12, 2022.

Psoriasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/diagnosis-treatment/drc-20355845. Accessed August 12, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/03/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สะเก็ดเงินที่ศีรษะ เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

วิธีป้องกันโรคสะเก็ดเงิน และสัญญาณโรคสะเก็ดเงินที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา