โรคหนังแข็ง คือ โรคผิวหนังที่พบได้ยาก ที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนออกมามากเกินไป และส่งผลให้ผิวหนังบางส่วนหนาขึ้นและแข็งตัว อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบไหลเวียนเลือด ระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม โรคหนังแข็งอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
[embed-health-tool-bmr]
สาเหตุของโรคหนังแข็ง
โรคหนังแข็งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่กระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนในรูปแบบเส้นใยที่มีความสำคัญต่อการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และส่งผลให้ผิวหนังหนาและแข็งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ แต่อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม ยีนที่มีความผิดปกติและส่งผลให้เกิดโรคหนังแข็ง อาจถ่ายทอดสู่คนในครอบครัวได้
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เป็นโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส อาจส่งผลให้ร่างกายทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังแข็งได้
- ปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีในที่ทำงาน ยารักษาโรค ไวรัส อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผิวหนังแข็งตัว
อาการของโรคหนังแข็ง
อาการของโรคหนังแข็งอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
โรคหนังแข็งเฉพาะที่ (Localized scleroderma)
มักเกิดขึ้นบนผิวหนังเฉพาะจุด เช่น ใบหน้า ฝ่ามือ เท้า แขน และไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆโดยอาจสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- ผิวหนังบวมและอาจมีอาการคัน
- ผิวหนังแข็งหนาเป็นวงรี เป็นจุดเล็ก ๆ หรือเป็นริ้วเส้น ๆ
- ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง มีสีม่วงรอบนอก และอาจมีสีขาวตรงกลาง
โรคหนังแข็งทั่วตัว (Systemic scleroderma)
เป็นโรคหนังแข็งที่อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ภาวะผิวหนังแข็งแบบจำกัด (Limited cutaneous scleroderma) อาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังบริเวณใบหน้า มือ แขน และเท้า รวมไปถึงอาจสร้างความเสียหายต่ออวัยวะภายใน เช่น ปอด ลำไส้ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร แต่อาจไม่ส่งผลต่อไต โดยสามารถสังเกตอาการได้จาก
- ผิวหนังหนาและแข็งตัวทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการขยับนิ้วมือและนิ้วเท้า
- สีผิวบริเวณปลายนิ้วเปลี่ยนแปลงเป็นสีแดง ขาว หรือน้ำเงิน ที่เกิดจากปัญหาเลือดหดตัวเวลาเจอความเย็น
- อาการกลืนอาหารลำบาก ที่อาจส่งผลให้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และเป็นกรดไหลย้อน
- หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย ไอแห้ง
- ความดันโลหิตสูงในปอด
- ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึด
2. ภาวะผิวหนังแข็งแบบแพร่กระจาย (Diffuse scleroderma) เป็นโรคหนังแข็งที่มีอาการผิวหนังแข็งและหนาบริเวณลำตัว ซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังต้นแขน มือ ต้นขา และเท้า อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด และทางเดินอาหาร รวมไปถึงการทำงานของไตร่วมด้วย โดยอาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง และเสี่ยงไตวายเฉียบพลัน
การรักษาโรคหนังแข็ง
โรคหนังแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ยา
- ยาขยายหลอดเลือด ใช้เพื่อช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก และอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้
- ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้เพื่อช่วยลดการลุกลามของโรคหนังแข็งไปยังอวัยวะภายใน เช่น ปอด ทำให้ระบบทางเดินหายใจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ยาลดกรดในกระเพาะ ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการเสียดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร และอาจช่วยลดอาการท้องร่วง ท้องอืด และท้องผูกได้
- ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดบวม สำหรับผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
การบำบัด
ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือการขยับนิ้วมือและนิ้วเท้า อาจจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และทำให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น
การผ่าตัด
คุณหมออาจทำการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสำหรับผู้ที่มีอาการโรคหนังแข็งระดับรุนแรง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและไต รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น