SPF คือ ค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของครีมกันแดด ในการปกป้องผิวจากรังสีอัตราไวโอเลตในแสงแดด ซึ่งอาจทำให้ผิวไหม้ได้ ทั้งนี้ ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง จะช่วยปกป้องผิวได้เป็นระยะเวลานานกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในการเลือกซื้อครีมกันแดด นอกจากการดูค่า SPF เพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาแล้ว ครีมกันแดดควรมีคุณสมบัติในการกันเหงื่อและกันน้ำด้วย
[embed-health-tool-bmi]
SPF คือ อะไร
SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor เป็นค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันผิวไหม้หรือผิวเสียหาย เนื่องจากรังสีอัตราไวโอเลตชนิด B (Ultraviolet B หรือ UVB) ที่พบได้ในแสงแดด
ในท้องตลาด ครีมกันแดดมักมีค่า SPF ที่เริ่มต้นจาก 15 โดยครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงอาจช่วยให้ผิวสามารถเผชิญกับแสงแดดได้นานกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF ต่ำกว่า
ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ครีมกันแดดช่วยป้องกันผิวไหม้เมื่ออยู่กลางแจ้ง คำนวณได้โดยการนำระยะเวลาสูงสุดที่คาดว่าสามารถอยู่กลางแจ้งได้โดยผิวไม่ไหม้ คูณกับค่า SPF ของครีมกันแดด เช่น อยู่กลางแจ้งได้นานสูงสุด 10 นาทีโดยผิวไม่ไหม้ เมื่อทาครีมกันแดด SPF 30 แล้วอาจอยู่กลางแจ้งได้โดยผิวไม่ไหม้เป็นระยะเวลานานเท่ากับ 10×30 = 300 นาที
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ครีมกันแดดสามารถปกป้องผิวจากแสงแดดอาจไม่ตรงกับการคำนวนค่า SPF ดังกล่าว เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ผิวหนังเกิดความเสียหายเมื่อต้องเผชิญกับรังสี UVB เช่น ลักษณะของผิวหนัง ปริมาณครีมกันแดดที่ใช้ ความถี่ในการทาครีมซ้ำ ความเข้มข้นของรังสี UVB ในแสงแดด ทั้งนี้ รังสี UVB นั้นทำให้ผิวไหม้ได้ และรุนแรงกว่ารังสี UVA แต่ UVA สามารถเข้าไปทำลายชั้นผิวหนังได้ลึก จึงอาจทำให้ผิวแก่ก่อนวัยและเป็นสาเหตุก่อมะเร็งผิวหนังได้
วิธีคำนวณหาค่า SPF
ในการคำนวณหาค่า SPF ของครีมกันแดดแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละรุ่น นักวิจัยจะฉายรังสี UVB สังเคราะห์ลงบนผิวหนังของอาสาสมัคร เพื่อหาระยะเวลาที่ผิวสามารถทนต่ออาการไหม้ ซึ่งจะแตกต่างกันระหว่างการทาครีมกันแดดกับการไม่ทาครีมกันแดด
หลังได้ตัวเลขมาแล้ว นักวิจัยจะคำนวนโดยใช้ระยะเวลาที่ครีมกันแดดสามารถป้องกันผิวไหม้ได้ตั้ง แล้วหารด้วยระยะเวลาที่ผิวจะไหม้หากไม่ทาครีมกันแดด เช่น 300 วินาที หารด้วย 10 วินาที โดยผลลัพธ์เท่ากับ 30 ซึ่งจะถือเป็นค่า SPF ของครีมกันแดดที่ใช้ทดสอบ
ปัจจัยในการเลือกซื้อครีมกันแดด
ในการเลือกซื้อครีมกันแดด นอกจากการพิจารณาโดยดูค่า SPF แล้ว ควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย ได้แก่
- ประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการปกป้องผิวจากรังสีอัตราไวโอเลตชนิด A ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยต่าง ๆ เพราะจะเข้าไปทำลายโปรตีนคอลลาเจน (Collagen) และอิลาสติน (Elastin) ในผิวหนังซึ่งทำหน้าที่คงความชุ่มชื้นหรือเต่งตึงของผิวหนัง ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันรังสี UVA นั้นพิจารณาได้จากค่า PA (Protection Grade of UVA) ที่แสดงบนฉลากครีม โดยค่า PA ซึ่งมีเครื่องหมาย + มาก หมายถึง มีประสิทธิภาพป้องกันรังสี UVA ที่สูง เช่น PA++++
- คุณสมบัติกันน้ำและกันเหงื่อ โดยปกติครีมกันแดดสามารถหลุดลอกจากผิวหนังเมื่อเหงื่อออกหรือโดนน้ำ จึงควรเลือกซื้อครีมกันแดดแบบกันน้ำเพื่อช่วยลดโอกาสที่ครีมจะหลุดลอกจากผิวหนัง และช่วยคงประสิทธิภาพของครีมกันแดดให้อยู่ทนนานขึ้น
ข้อแนะนำในการทาครีมกันแดด
- ควรทาครีมกันแดดก่อนเผชิญกับแสงแดดประมาณ 15 นาที
- ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ผิวหนังได้รับการปกป้องจากรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างต่อเนื่อง
- ควรทาครีมกันแดดซ้ำโดยเฉพาะในบริเวณที่เหงื่อออกมากเพื่อป้องกันเนื้อครีมหลุดลอกออกจนหมด
- เพื่อให้การทาครีมกันแดดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรสวมเครื่องแต่งกายที่ช่วยปกป้องผิว อย่างการใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว สวมหมวกปีกกว้าง ใส่แว่นตากันแดด