ปจด. หรือประจำเดือน หมายถึงภาวะเลือดออกทางช่องคลอดของเพศหญิงทุก ๆ เดือน หรือทุก ๆ 21-35 วัน เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน หลังจากที่ร่างกายตกไข่แล้วไม่ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิของเพศชาย ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ทั้งนี้ เพศหญิงอาจพบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับประจำเดือนแตกต่างกันไป เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนขาด ปวดท้องประจำเดือน หากปัญหาเหล่านี้สร้างความไม่สบายตัวหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ได้
[embed-health-tool-ovulation]
ปจด. คืออะไร
ปจด. เป็นคำย่อของประจำเดือน หรือการที่ร่างกายเพศหญิงมีเลือดออกทางช่องคลอดเดือนละครั้ง ซึ่งนับเป็นภาวะสุขภาพปกติของเพศหญิง เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
โดยทั่วไป ผู้หญิงมักมีประจำเดือนครั้งแรก เมื่ออายุ 12-16 ปี และจะหยุดมี ปจด. เมื่อเข้าสู่วัยทอง หรือเมื่ออายุราว ๆ 45-55 ปี ซึ่งร่างกายจะหยุดผลิตฮอร์โมนเพศโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนทำให้ไม่เกิดการตกไข่
ทั้งนี้ ประจำเดือนแต่ละรอบ จะเกิดห่างกันประมาณ 21-35 วัน และเลือดประจำเดือน จะไหลติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน
ปัญหา ปจด. ที่พบบ่อย
ปัญหาสุขภาพในเพศหญิงเกี่ยวกับประจำเดือนที่อาจพบได้บ่อย ประกอบด้วยปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
-
ประจำเดือนมามาก
ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia) คือการมีเลือดออกทางช่องคลอด ติดต่อกันเกิน 7 วัน หรือมีเลือดออกมากกว่าปกติ โดยสังเกตได้จากการเปลี่ยนอนามัยบ่อยกว่าปกติ
ถ้าประจำเดือนมามาก มักพบลิ่มเลือดประจำเดือนขนาดประมาณเหรียญบาท รวมถึงมีอาการอ่อนเพลียหรือโลหิตจาง เนื่องจากการเสียเลือดปริมาณมาก อาจส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
ประจำเดือนมามากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ร่างกายสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกมากเกินไป เนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจน
- มีปัญหาสุขภาพในระบบสืบพันธุ์ เช่น ติ่งเนื้อ เนื้องอก มะเร็งมดลูก
- ผลข้างเคียงจากยาบางอย่างที่ใช้อยู่ เช่น วอร์ฟาริน (Warfarin) หรืออีน็อกซาพาริน (Enoxaparin) ซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือจับตัวกันยากขึ้น
วิธีรักษาประจำเดือนมามาก
เมื่อเป็นประจำเดือนมามาก คุณหมอจะรักษาตามอาการ โดยวิธีการรักษาอาจมีดังนี้
- การรับประทานยาแก้อักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการเสียเลือดประจำเดือน รวมถึงอาการปวดประจำเดือน
- การปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ด้วยการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือรับประทานโปรเจสเตอโรนทดแทน
- การผ่าตัด หากตรวจพบเนื้องอกหรือมะเร็ง คุณหมอจะผ่าตัดเนื้องอกออกจากร่างกาย
-
ภาวะขาดประจำเดือน
ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) หรือบางครั้งเรียกว่า ประจำเดือนไม่มา หมายถึง วัยรุ่นหญิงที่อายุ 16 ปีแล้วแต่ยังไม่เคยมีประจำเดือน รวมถึงการขาดประจำเดือน 3 รอบติดต่อกันของผู้หญิงที่เคยเป็นประจำเดือนมาก่อน
ทั้งนี้ สาเหตุของภาวะขาดประจำเดือน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ภาวะสุขภาพของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เช่น การตั้งครรภ์ วัยทอง
- ไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุล เช่น มีภาวะเครียด การออกกำลังกายอย่างหนัก
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ผลข้างเคียงหลังหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน เนื่องจากภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
การรักษาภาวะขาดประจำเดือน
เนื่องจากภาวะขาดประจำเดือน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อไปพบคุณหมอ อาจได้รับการวินิจฉัยและรักษาตามอาการ เช่น หากขาดประจำเดือนเพราะความเครียด คุณหมออาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเครียด และทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีขาดประจำเดือนเนื่องจากโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ คุณหมอจะรักษาด้วยการให้บริโภคยาหรือฮอร์โมนทดแทน เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติเนื่องจากอาการป่วย
นอกจากนั้น ในกรณีที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ หรือไอโอดีนรังสี เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยให้ทุเลาลง
ทั้งนี้ หากเกิดภาวะขาดประจำเดือนเนื่องจากการตั้งครรภ์ หรือการหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะหลังผ่านไประยะหนึ่งประจำเดือนจะกลับมาตามปกติ โดยในกรณีตั้งครรภ์ ประจำเดือนอาจกลับมาภายใน 6-8 สัปดาห์หลังจากคลอดบุตรแล้ว ในกรณีที่หยุดใช้ยาคุม เลือดประจำเดือนจะกลับมาไหลตามปกติ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
-
กลุ่มอาการ PMS และ PMDD
PMS ย่อมาจาก Premenstrual Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการที่มักพบช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงสารเคมีในสมอง
โดยทั่วไป อาการที่พบได้ ประกอบด้วย
- อาการทางร่างกาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ ปวดหัว อ่อนเพลีย เจ็บเต้านม ท้องผูก ท้องเสีย น้ำหนักเพิ่ม
- อาการทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดงิดง่าย อยากอาหาร ไม่อยากเข้าสังคม จดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้ยากขึ้น หลับยาก
ทั้งนี้ กลุ่มอาการ PMS สามารถพบได้บ่อย ในอัตรา 75 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงทั้งหมด โดย PMS ที่มีอาการรุนแรงกว่าปกติ จะเรียกว่า PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder พบได้น้อยกว่า PMS หรือในอัตรา 3-8 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงทั้งหมดเท่านั้น
การดูแลตัวเองหากมีกลุ่มอาการ PMS และ PMDD
สำหรับผู้ที่มีอาการ PMS และ PMDD และสร้างปัญหาให้ชีวิตทั้งด้านการทำงานและความสัมพันธ์ คุณหมออาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาต้านเศร้า เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) เพื่อบรรเทาอาการทางสุขภาพจิตต่าง ๆ ควบคู่กับแนะนำให้ปรับพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ ลดการเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะทำให้เครียดหรืออารมณ์ไม่ดี รวมถึงให้เลี่ยงรับประทานอาหารรสเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องอืดและทำให้ไม่สบายตัว หงุดหงิดได้
ลักษณะ ปจด. แบบไหนที่ควรรีบไปพบคุณหมอ
นอกจากปัญหากวนใจที่พบได้บ่อย ๆ แล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ เกี่ยวกับประจำเดือนที่พบได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัย
- ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน หรือมากกว่านั้น
- มีระยะห่างระหว่างประจำเดือนเดือนน้อยกว่า 21 วัน
- มีระยะห่างระหว่างประจำเดือนมากกว่า 35 วัน
- เป็นประจำเดือนนานเกิน 7 วัน
- เป็นประจำเดือนหลังจากเข้าสู่วัยทองแล้ว หรือประจำเดือนหมดไปแล้วกลับมาเป็นอีก
- มีประจำเดือนปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติในแต่ละรอบเดือน
- มีอาการข้างเคียงที่ผิดปกติร่วมด้วยขณะเป็นประจำเดือน เช่น ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องอย่างรุนแรง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น