backup og meta

ตกขาวก่อนประจำเดือน ต่างจากตกขาวปกติอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    ตกขาวก่อนประจำเดือน ต่างจากตกขาวปกติอย่างไร

    ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอด สามารถพบได้ทั่วไปในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีหน้าที่ช่วยป้องกันช่องคลอดแห้ง และอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยปริมาณของตกขาว กลิ่น สี อาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ตกขาวในแต่ละช่วงหรือในแต่ละวัน อาจมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น ตกขาวก่อนประจำเดือน การทราบความแตกต่างระหว่างตกขาวที่มักพบได้ในช่วงก่อนมีประจำเดือนและตกขาวปกติ อาจเป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตที่ทำให้ทราบได้ว่าประจำเดือนจะมาเมื่อใด และสามารถเตรียมดูแลตัวเองในช่วงมีประจำเดือนได้ดีขึ้น

    ตกขาว คืออะไร

    ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่ขับออกมาจากช่องคลอด และปากมดลูก มีหน้าที่ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและเซลล์ที่ตายแล้วออกจากช่องคลอดโดยธรรมชาติ และช่วยป้องกันช่องคลอดแห้ง ตกขาวโดยทั่วไปอาจเป็นเมือกเหนียว สีใสหรือสีขาว อย่างไรก็ตาม สีและปริมาณตกขาวที่ผิดปกติ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อ หรือปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบ โรคหนองใน

    ตกขาวก่อนประจำเดือน ต่างจากตกขาวปกติอย่างไร

    ตกขาวก่อนประจำเดือน หรือที่เรียกกันว่า ช่วงตกไข่ มักมีสีใส ลักษณะคล้ายไข่ขาวดิบ เนื้อสัมผัสลื่น ไม่มีกลิ่นและมีปริมาณมาก เมื่อไข่ตก หากไม่มีการปฏิสนธิหรือตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกไม่สำเร็จ ผนังมดลูกที่หนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนก็จะหลุดออกและกลายเป็นเลือดประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอด ทำให้บางครั้ง อาจมีตกขาวสีชมพูซึ่งเกิดจากตกขาวปนเลือดประจำเดือนได้ด้วย และหลังจากหมดประจำเดือน อาจสังเกตเห็นตกขาวได้น้อยลงหรือแทบมองไม่เห็น

    ตกขาวก่อนประจำเดือน ผิดปกติหรือไม่

    ตกขาวก่อนประจำเดือนถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอในทันที

    • คัน ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
    • ช่องคลอดบวมแดง
    • แสบหรือเจ็บขณะปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์
    • สีตกขาวผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว สีเทา
    • ตกขาวเป็นก้อน
    • ตกขาวมีปริมาณมากผิดปกติ
    • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
    • ตกขาวมีฟอง
    • มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
    • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

    สีของตกขาว

    สีของตกขาวอาจมีดังนี้

    • ตกขาวสีขาวหรือสีครีม พบได้ทั่วไป อาจเป็นสัญญาณว่าสุขภาพทางช่องคลอดปกติ แต่หากมีอาการคัน ระคายเคือง มีกลิ่นเหม็นบริเวณช่องคลอด ตกขาวเป็นก้อน อาจเกิดจากการติดเชื้อรา หรือภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
    • ตกขาวสีเหลืองหรือสีเขียว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด โรคพยาธิในช่องคลอด โรคหนองใน รวมถึงตกขาวอาจมีลักษณะเหนียวข้น เป็นก้อน และมีกลิ่นเหม็นได้
    • ตกขาวสีชมพู มักเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน หรืออาจเกิดจากเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลให้เลือดผสมกับตกขาว และกลายเป็นตกขาวสีชมพู รวมถึงอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ช่วงต้น หรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
    • ตกขาวสีแดงหรือสีน้ำตาล อาจเกิดจากภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่วัยหมดประจำเดือนหรือไม่มีประจำเดือนมาอย่างน้อย 1 ปี ควรไปหาคุณหมอหากพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด
    • ตกขาวสีเทา อาจเป็นสัญญาณของภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คัน ระคายเคือง แสบร้อนช่องคลอด ช่องคลอดบวมแดง

    การรักษาตกขาวผิดปกติ

    วิธีการรักษาตกขาวผิดปกติอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากเกิดจากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากระดับเอสโตรเจนที่ลดลงอาจส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง และขาดเมือกหล่อลื่น จนเสี่ยงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น รวมถึงอาจมีอาการคัน ระคายเคือง ช่องคลอดอักเสบ และมดลูกอักเสบร่วมด้วย คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดทาที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือหากเกิดจากการติดเชื้อรา อาจรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา ทั้งชนิดที่เป็นยาสอดช่องคลอด หรือยารับประทาน

    นอกจากการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แล้ว การดูแลตัวเองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ก็อาจช่วยให้ภาวะตกขาวผิดปกติหายเร็วขึ้น หรือช่วยป้องกันภาวะนี้ได้

    • รักษาความสะอาดอวัยวะเพศ ควรใช้น้ำเปล่า หรือน้ำอุ่นและสบู่อ่อน ๆ ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก ไม่ควรใช้สบู่ถูลงบริเวณจุดซ่อนเร้นโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ และควรงด สวนล้างช่องคลอดด้วย
    • เช็ดทำความสะอาดจุดซ้อนเร้น จากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกัน เชื้อแบคทีเรียจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
    • สวมกางเกงในที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันการอับชื้น และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่น
    • สวมใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา