backup og meta

ไฮเปอร์ไทรอยด์ ไทรอยด์ทำงานเกิน อาการ สาเหตุ การรักษา

ไฮเปอร์ไทรอยด์ ไทรอยด์ทำงานเกิน อาการ สาเหตุ การรักษา

ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroid) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป ส่งผลให้ร่างกายมีระบบการเผาผลาญมากเกินปกติ จนทำให้น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งยังอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติได้ ผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก จนส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้

[embed-health-tool-ovulation]

ไฮเปอร์ไทรอยด์ คืออะไร 

ไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โดยต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งอยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน ได้แก่ ไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine หรือ T3) ไทรอกซีน (Thyroxine หรือ T4) ต่อมไทรอยด์มีความสำคัญ คือ  ควบคุมการเผาผลาญในร่างกาย (Metabolism) และควบคุมการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือด ดังนั้น หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป อาจทำให้อัตราการเผาผลาญแคลอรี่ในร่างกายมากขึ้น และก่อให้เกิดอาการทางสุขภาพต่าง ๆ ตามมา

อาการของไฮเปอร์ไทรอยด์

ไฮเปอร์ไทรอยด์อาจมีอาการให้สังเกต ดังนี้ 

  • หัวใจเต้นเร็ว ไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น 
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง
  • นอนไม่หลับ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • รู้สึกประหม่า วิตกกังวล
  • ท้องเสีย ท้องร่วง 
  • เหงื่อออกง่าย
  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ผมเปราะบางขาดง่าย ผมร่วง 
  • ผิวหนังบาง มีอาการคัน
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ 
  • ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอบวม หรือโตขึ้น

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ อาจไม่ปรากฏอาการของโรคที่ชัดเจน หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เหงื่อออกง่าย หรือเหนื่อยง่ายขึ้นเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน 

สาเหตุของไฮเปอร์ไทรอยด์

ปัจจัยการเกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์อาจมีหลายสาเหตุ ดังนี้ 

  • โรคเกรฟส์ (Grave’s Disease) เป็นสาเหตุที่อาจพบได้บ่อย เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป 
  • ไอโอดีน การได้รับไอโอดีนมากเกินไป อาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ซึ่งไอโอดีนอาจสามารถพบได้ในยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยารักษาโรคหัวใจ รวมถึงการรับประทานอาหารทะเล หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสาหร่ายทะเลมากเกินไป 
  • รับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป อาจเกิดกับผู้ป่วยภาวะต่อมฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป และรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป 
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตในต่อมไทรอยด์ อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ
  • ไทรอยด์อักเสบ มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดไฮเปอร์ไทรอยด์ เช่น 

  • อายุ และเพศ อาจพบได้บ่อยในผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป 
  • กรรมพันธ์ุ ครอบครัวมีประวัติการมีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ 
  • รับประทานอาหารที่มีไอโอดีนเป็นประจำ เช่น อาหารทะเล ปลาทะเล 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคโลหิตจาง เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง
  • สูบบุหรี่ 

ภาวะแทรกซ้อนของไฮเปอร์ไทรอยด์ 

หากไม่ทำการรักษาภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพร่างกายได้ ดังนี้ 

  • ปัญหาสายตา พบได้ในผู้ป่วยโรคเกรฟส์ อาจส่งผลทำให้ตาไวต่อแสง ตาแห้ง เห็นภาพซ้อน ในบางกรณีอาจสูญเสียการมองเห็น  
  • ปัญหาการเจริญพันธ์ุ เช่น ภาวะมีบุตรยาก 
  • ปัญหาหัวใจ หากหัวใจเต้นผิดปกติอาจทำให้เกิดลิ่มเลือด หัวใจโต ภาวะหัวใจวาย 
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ทำให้กระดูกบางลง และกลายเป็นโรคกระดูกพรุน 
  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ แท้งบุตร 

การวินิจฉัยไฮเปอร์ไทรอยด์ 

การวินิจฉัยอาจทำได้หลายวิธี โดยคุณหมอจะสอบถามประวัติการรักษา และอาการต่าง ๆ รวมถึงอาจมีการทดสอบเพิ่มเติม เช่น 

  • ตรวจร่างกาย โดยเช็คบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น 
    • ตา เพื่อตรวจหาอาการตาแดง บวม ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคเกรฟส์ 
    • มือ เพื่อดูว่ามีอาการมือสั่นหรือไม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเล็บ 
    • ผิว สัมผัสว่าผิวมีความแห้งหรือมีเหงื่อผิดปกติหรือไม่  
    • คอ สัมผัสบริเวณไทรอยด์ เพื่อดูว่าต่อมไทรอยด์โต มีลักษณะนุ่มผิดปกติหรือไม่ 
    • หัวใจ โดยใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือไม่ 
  • ตรวจเลือด เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยวัดปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และ T4 ในเลือด รวมถึงค่า TSH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมน T3 และ T4 หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ซึ่งผลการตรวจเลือดจะพบว่า T3 และ T4 สูงแต่ TSH  ต่ำ หากต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ ผลการตรวจเลือดจะพบว่า T3 และ T4 ต่ำแต่ TSH สูง
  • เอกซเรย์ ช่วยให้คุณหมอสามารถเห็นถึงการทำงานและความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ชัดขึ้น โดยอาจมีวิธีดังต่อไปนี้ 
    • การสแกนต่อมไทรอยด์ เป็นการตรวจโดยใช้กัมมันตภาพรังสีจำนวนเล็กน้อยในการสร้างภาพต่อมไทรอยด์ เพื่อให้เห็นถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์
    • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นความถี่สูง เพื่อดูขนาดของต่อมไทรอยด์ และดูว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์หรือไม่ 
    • การทดสอบการดูดซึมสารกัมมันตรังสีไอโอดีน โดยการกลืนไอโอดีนกัมมันตรังสีในรูปแบบของแคปซูลหรือของเหลว การดูดซึมไอโอดีนต่ำ อาจบ่งชี้ถึงภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ที่เกิดจากการอักเสบหรือการใช้ยาทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป หากการดูดซึมไอโอดีนสูง อาจบ่งชี้ว่าเป็นโรคเกรฟส์ หรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ 

วิธีรักษาไฮเปอร์ไทรอยด์

การรักษาไฮเปอร์ไทรอยด์มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ซึ่งวิธีการรักษาอาจมีดังนี้ 

  • การรับประทานยา เช่น 
    • ยาต้านไทรอยด์ เช่น เมไทมาโซล (Methimazole) โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) ช่วยทำให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์น้อยลง อาจต้องกินยาเป็นเวลา 1-2 ปี นอกจากนี้ อาจมีอาการข้างเคียงในการแพ้ยา ทำให้เกิดผื่นคัน กดการสร้างเม็ดเลือดขาวอาจส่งผลให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น 
    • ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) อาจช่วยลดอาการต่าง ๆ เช่น อาการใจสั่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว อาการวิตกกังวล อาจมีผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ
  • การบำบัดด้วยรังสีไอโอดีน โดยกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสี ซึ่งจะทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้ช้าลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดชีวิต เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เมื่อไทรอยด์บางส่วนถูกผ่าตัดออก อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้ช้าลง หรือไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ จึงอาจต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดชีวิต เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hyperthyroidism (Overactive). http://www.thyroid.org/hyperthyroidism/. Accessed November 9, 2021

Hyperthyroidism (overactive thyroid). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/symptoms-causes/syc-20373659. Accessed November 9, 2021

Hyperthyroidism. https://medlineplus.gov/hyperthyroidism.html. Accessed November 9, 2021

Hyperthyroidism (Overactive Thyroid). https://www.niddk.nih.gov/health-information/endocrine-diseases/hyperthyroidism. Accessed November 9, 2021

Hyperthyroidism (Overactive Thyroid). https://www.webmd.com/a-to-z-guides/overactive-thyroid-hyperthyroidism. Accessed November 9, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/09/2023

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ในร่างกายได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีธรรมชาติ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 24/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา