backup og meta

ความดันต่ำ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ความดันต่ำ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ความดันต่ำ หมายถึงภาวะที่ระดับความดันโลหิตลดลงต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง และอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ไม่เพียงพอ นำมาซึ่งอาการต่าง ๆ เช่น เวียนหัว หมดสติ ตัวเย็น หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา หรือหากปล่อยให้ความดันโลหิตลดลงต่ำเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

คำจำกัดความ

ความดันต่ำคืออะไร

ความดันต่ำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะที่ความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน หรือผู้ที่มีค่าความดันต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง และอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนอื่นในร่างกายไม่เพียงพอ

ความดันต่ำอาจเป็นอาการหนึ่งของภาวะทางสุขภาพหลายประการ และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายเป็นประจำ การยืนเป็นเวลานานเกินไป หรือแม้แต่การยืนขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตลดลงได้

ความดันต่ำ มีหลายประเภท ดังนี้

  • ความดันต่ำขณะลุกขึ้นยืน หมายถึงผู้ที่มีระดับความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อลุกขึ้นยืน จากเดิมที่กำลังนั่งหรือนอนอยู่
  • ความดันต่ำหลังจากกินอาหาร หมายถึงผู้ที่มีความดันต่ำภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากกินอาหาร มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
  • ความดันต่ำจากสารสื่อประสาทผิดพลาด ภาวะนี้เกิดขึ้นจากสารสื่อประสาทระหว่างสมองกับหัวใจทำงานผิดพลาด ทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำหลังจากยืนเป็นเวลานาน พบได้บ่อยในเด็กและวัยหนุ่มสาว
  • ความดันต่ำเนื่องจากระบบประสาทเสียหาย เรียกอีกอย่างว่า กลุ่มอาการชาย-เดรเกอร์ (Shy-Drager syndrome) เป็นโรคหายากที่คล้ายคลึงกับโรคพาร์กินสัน เกิดขึ้นเมื่อระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจเกิดความผิดปกติ ทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำ

อาการ

อาการของความดันต่ำ

อาการต่าง ๆ ของความดันต่ำ เกิดขึ้นเมื่อเลือดที่ลำเลียงไปเลี้ยงสมองลดลง โดยอาการทั่วไป ได้แก่

  • อาการเวียนศีรษะหรืออาการมึนศีรษะ
  • เป็นลมหรือวูบ
  • ไม่มีสมาธิ
  • การมองเห็นไม่ชัด
  • คลื่นไส้
  • ตัวเย็น หรือตัวซีด
  • หายใจเร็วและสั้น
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการซึมเศร้า
  • กระหายน้ำ

ความดันโลหิตต่ำเรื้อรังที่ไม่มีอาการถือว่าไม่รุนแรง เนื่องจากบางคนที่มีสุขภาพดี หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีความดันต่ำได้ แต่หากระดับความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน อาจทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญไม่เพียงพอ โดยเฉพาะส่วนของระบบประสาทและสมอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ควรไปพบหมอเมื่อใด

โดยปกติความดันต่ำไม่นับเป็นปัญหารุนแรง แต่หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและหนทางในการรักษา ก่อนที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

  • รู้สึกเวียนศีรษะหรือรู้สึกเหมือนจะอาเจียน นานกว่า 5 วินาที
  • มีอาการใจสั่น
  • มองเห็นไม่ชัด
  • เป็นลมหมดสติ
  • ช็อก
  • ตัวซีดเย็น
  • เหงื่อออกมาก

สาเหตุ

สาเหตุของความดันต่ำ

สาเหตุของความดันต่ำมีหลายประการ ได้แก่

  • ภาวะขาดน้ำ หากร่างกายมีน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ปริมาณของเลือดลดต่ำ และทำให้ความดันต่ำด้วยเช่นกัน ภาวะขาดน้ำอาจเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ท้องเสีย หรือมีเหงื่อออกมากเกินไป
  • ชีพจรอ่อน หัวใจสูบฉีดไม่แรงพอ
  • ปัญหาของระบบประสาท หากระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหลอดเลือดทำงานไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ความดันต่ำได้
  • การตั้งครรภ์
  • ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เพลียแดด หรือเป็นลมแดด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาสำหรับโรคซึมเศร้าหรือโรคพาร์กินสัน ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers)
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคตับ

ในผู้ป่วยบางราย ความดันโลหิตสามารถลดลงได้อย่างกะทันหัน โดยอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • การสูญเสียเลือดจากภาวะเลือดออก
  • อุณหภูมิร่างกายต่ำ
  • อุณหภูมิร่างกายสูง
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว
  • การติดเชื้อในเลือดขั้นรุนแรง
  • ภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรงจากการอาเจียน ท้องร่วง หรืออาการไข้
  • ปฏิกิริยาต่อยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ปฏิกิริยาภูมิแพ้ขั้นรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสุขภาพดี โดยผู้สูงอายุและผู้ที่ตั้งครรภ์ ก็อาจมีความดันต่ำได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของความดันต่ำ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความดันต่ำ มีดังต่อไปนี้

  • อายุ ความเสี่ยงในการมีความดันต่ำอาจจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ประมาณ 10-20% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอาจจะมีความดันต่ำจากการเปลี่ยนท่าลุกยืนหรือหลังกินอาหาร
  • ยา ยาบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตต่ำได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มไนเตรท ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilation)
  • ภาวะขาดน้ำ เช่น อาเจียน ท้องเสีย ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
  • สภาวะและโรคต่าง ๆ ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคพิษสุราเรื้อรัง อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความดันต่ำ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยความดันต่ำ

วิธีการตรวจที่นิยมใช้มากที่สุด คือการวัดความดันโลหิต เพื่อดูว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ โดยคุณหมอจะวัดความดันในขณะที่ผู้ป่วยนั่งพักอยู่ และอาจจะวัดอีกครั้งหลังลุกขึ้นยืน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบอื่น ๆ ดังนี้

  • ตรวจเลือด เพื่อดูว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ นอกจากนี้ยังตรวจดูความสมดุลของสารเคมีในเลือด และปริมาณของเลือด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ เพื่อดูว่าหัวใจสูบฉีดเลือดในระดับที่เหมาะสมหรือไม่

การรักษาความดันต่ำ

สำหรับผู้ที่มีความดันต่ำและมีอาการแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อย เช่น อาการเวียนหัวเมื่อลุกขึ้น อ่อนเพลียเล็กน้อย ก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่คุณหมออาจจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันต่ำแล้วหาทางแก้ไข เช่น หากความดันต่ำจากการใช้ยา ก็อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน

วิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นอยู่กับอายุ ภาวะทางสุขภาพ และประเภทของความดันต่ำ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

  • เพิ่มเกลือในอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า เนื่องจากโซเดียมส่วนเกินอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • ดื่มน้ำมากขึ้น จะช่วยเพิ่มปริมาณเลือด และรักษาภาวะขาดน้ำได้
  • ยา เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของเลือด

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง

การปรับไลฟ์สไตล์หรือการดูแลตนเองที่อาจช่วยจัดการกับความดันต่ำ

  • ยืนขึ้นอย่างช้า ๆ และให้เวลาร่างกายได้ปรับตัว โดยเฉพาะตอนลุกขึ้นจากที่นอนในตอนเช้า ให้เริ่มต้นด้วยการลุกขึ้นนั่งสักครู่หนึ่ง แล้วแกว่งขาสักครู่หนึ่ง เมื่อลุกขึ้นยืน ควรมีสิ่งให้จับยึด หากรู้สึกเริ่มเวียนศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการวิ่ง เดินทางไกล หรือทำสิ่งใด ๆ ที่ใช้พลังงานมากในสภาพอากาศร้อน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำในท่ายืนมีอาการแย่ลง
  • ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน
  • หนุนหัวเตียง เพื่อช่วยยกศีรษะให้สูงเหนือระดับหัวใจเล็กน้อยขณะนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The promises and perils of treating the elderly hypertensive. https://europepmc.org/abstract/med/8447339. Accessed December 4, 2016.

Orthostatic hypotension is a more robust predictor of cardiovascular events than nighttime reverse dipping in elderly. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20458003. Accessed December 4, 2016.

Understanding Low Blood Pressure — the Basics. http://www.webmd.com/heart/understanding-low-blood-pressure-basics. Accessed December 4, 2016.

Hypotension Symptoms. www.mayoclinic.org/diseases-conditions/low-blood-pressure/basics/definition/con-20032298. Accessed December 4, 2016.

Low blood pressure (hypotension). https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-pressure-hypotension/. Accessed September 27, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัดความดันโลหิต ด้วยตัวเอง ทำอย่างไรให้ถูกต้อง

คนเป็น ความดันต่ำ ดื่มเบียร์ แล้วจะช่วยได้จริง ๆ เหรอ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป · คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา