ไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) หรือ คอเลสเตอรอลสูง คือ ภาวะไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โดยไขมันหลัก ๆ ที่พบในเลือดมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) และคอเลสเตอรอล (Cholesterol)
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
ไขมันในเลือดสูง คืออะไร
ไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) หรือคอเลสเตอรอลสูง คือ ภาวะไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โดยไขมันหลัก ๆ ที่พบในเลือดมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) และคอเลสเตอรอล (Cholesterol)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไขมันในเลือดสูงมักไม่มีอาการแสดงออกภายนอก หากร่างกายมีไขมันในเลือดสูงเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
ไขมันในเลือดสูงพบได้บ่อยเพียงใด
ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไขมันในเลือดสูงส่วนใหญ่มักเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติไขมันในเลือดสูง
อาการ
อาการของไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมักไม่มีอาการแสดงออกในช่วงแรก แต่หากร่างกายมีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สะสมในไขมันในหลอดเลือดแดงมากจนเกินไป หลอดเลือดจะตีบแคบลง เลือดจะไหลเวียนได้ยากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย หรือถ้าเกิดขึ้นบริเวณสมองก็อาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดสมอง
สาเหตุ
สาเหตุของไขมันในเลือดสูง
การรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และอาหารดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันในเลือดสูง
- ชีส
- ไข่แดง
- อาหารทอดและแปรรูป
- ไอศกรีม ขนมอบ
- เนื้อแดง
นอกจากนี้ การขาดการออกกำลังกาย รวมถึงอายุที่มากขึ้น ก็อาจนำไปสู่ไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูง
ปัจจัยต่อไปนี้ อาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้
- ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์มากเกินไป
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคเมตาบอลิก
- ใช้ยาฮอร์โมนหรือสเตียรอยด์
- วัยหมดประจำเดือน
- ผู้ป่วยโรคไต
- ผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยไขมันในเลือดสูง
ในเบื้องต้น คุณหมอจะซักประวัติและอาการของผู้ป่วย และใช้วิธีการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด โดยคุณหมอจะสั่งให้งดน้ำและรับประทานอาหารก่อนเข้ารับการตรวจเป็นเวลา 9-12 ชั่วโมง หากคอเลสเตอรอลรวม 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การรักษาไขมันในเลือดสูง
ในเบื้องต้น คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หากไขมันในเลือดสูงจากสาเหตุทางพันธุกรรม คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาร่วมด้วย เช่น ยาซินวาสแตติน (Simvastatin) ยาโลวาสแตติน (Lovastatin)
เป้าหมายของการรักษาคือ การลดระดับคอเลสเตอรอลลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้ดีขึ้น แต่บางรายอาจต้องใช้ยาควบคู่กันไปด้วย
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์หรือดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงไขมันในเลือดสูง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่อาจช่วยป้องกันไขมันในเลือดสูงได้ มีดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ต่ำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก เนื้อเย็น
- ดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมไขมันต่ำควบคุมน้ำหนัก
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมันดี เช่น อะโวคาโด อัลมอนด์