backup og meta

รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ เกี่ยวกับ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (Heart Arrhythmias)

รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ เกี่ยวกับ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (Heart Arrhythmias)

ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นหนึ่งในความผิดปกติของหัวใจที่หลายคนอาจเป็นอยู่แต่ไม่เคยสังเกต กว่าที่จะรู้ตัวอาการหัวใจเต้นผิดปกติก็อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เกิดโรคหัวใจอื่น ๆ ตามมาแล้ว

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ คืออะไร

หัวใจเต้นผิดปกติ (Heart Arrhythmias) หรือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึงภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจผิดไปจากที่ควรเป็น เช่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ใจสั่น

โดยทั่วไปแล้ว ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ มักไม่มีอันตรายหรืออาการที่ชัดเจน ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะนี้อยู่ แต่ในบางครั้ง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็อาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติพบบ่อยแค่ไหน

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ ภาวะนี้สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

โดยปกติแล้ว อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติอาจไม่แสดงออกให้เห็นชัด นอกเหนือจากอาการหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น แต่ในบางกรณีก็อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • เหนื่อยล้าง่าย
  • อ่อนแรง
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจลำบาก
  • เหงื่อออกมาก
  • วิตกกังวล รู้สึกใจหวิว
  • มองเห็นไม่ชัด

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

เนื่องจาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะยากต่อการสังเกตอาการ แม้แต่ในผู้ป่วยรุนแรงบางรายก็อาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาเลย ดังนั้น ทางที่ดีคุณจึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มโอกาสการตรวจพบโรคและทำการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของ หัวใจเต้นผิดปกติ

สาเหตุโดยทั่วไปของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ มีดังนี้

  • การบาดเจ็บ แผลเป็น ความความผิดปกติที่เนื้อเยื่อหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เช่น กาแฟ ชา
  • การใช้ยาบางชนิด หรือการใช้ยาเสพติด
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hypothyroidism)
  • ลิ่มเลือด
  • การสูบบุหรี่
  • โรคหัวใจ
  • โรคเบาหวาน
  • การออกกำลังกายมากเกินไป
  • หัวใจวาย

สาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีทั้งสาเหตุที่ไม่เป็นอันตราย และสาเหตุที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หากคุณรู้สึกว่ากำลังมีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ในทันที

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ หัวใจเต้นผิดปกติ

คุณอาจมีความเสี่ยงในการเกิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • อายุมาก ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • การใช้ยา ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคเบาหวาน อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจได้
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ไลฟ์สไตล์ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • โรคประจำตัว สภาวะบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

นอกเหนือจากการตรวจร่างกายและดูอาการตามปกติแล้ว วิธีการวินิจฉัย ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram หรือ ECG) เพื่อวัดดูสัญญาณไฟฟ้าหัวใจว่าผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การเอกซเรย์ทรวงอก
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
  • การตรวจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test)
  • การทดสอบความเครียด
  • การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization)
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter Monitoring)

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

การรักษา ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการเต้นของหัวใจ และสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่โดยส่วนใหญ่มักจะมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • การใช้ยา แพทย์อาจจะให้ยาเพื่อช่วยปรับการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ โดยใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ เช่น ใช้ยาอะโทรปีน (atropine) เพื่อช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้แพทย์ยังอาจให้ยาลดความดันโลหิตหรือยาละลายลิ่มเลือดร่วมอีกด้วย
  • การใช้ไฟฟ้าช็อกหัวใจ เพื่อรีเซ็ทการเต้นของหัวใจใหม่อีกครั้ง
  • การรักษาด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน (Radiofrequency Catheter Ablation)
  • การใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (Implantable cardioverter defibrillators หรือ ICD)
  • การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker)

นอกจากนี้ หากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติมีสาเหตุมาจากปัจจัยการใช้ชีวิต การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ก็อาจช่วยรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้เช่นกัน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่
  • เลิกหรือลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลือกรับประทานที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ผักใบเขียว ปลาทะเล อาหารไขมันต่ำทั้งหลาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ระวังอย่าออกกำลังกายหนักจนเกินไป เพราะอาจทำให้ หัวใจเต้นผิดปกติ ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heart arrhythmia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-arrhythmia/symptoms-causes/syc-20350668. Accessed August 16, 2021.

What to know about arrhythmia. https://www.medicalnewstoday.com/articles/8887. Accessed August 16, 2021.

Arrhythmia. https://www.webmd.com/heart-disease/atrial-fibrillation/heart-disease-abnormal-heart-rhythm. Accessed August 16, 2021.

Arrhythmia. https://www.nhs.uk/conditions/arrhythmia/. Accessed August 16, 2021.

Arrhythmia. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/arrhythmia. Accessed August 16, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/09/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความรู้พื้นฐานของอาการ ใจสั่น (Heart Palpitations) ที่คุณควรรู้

หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา