backup og meta

วัดความดันโลหิต ด้วยตัวเอง ทำอย่างไรให้ถูกต้อง

วัดความดันโลหิต ด้วยตัวเอง ทำอย่างไรให้ถูกต้อง

ความดันโลหิตของคุณสามารถบอกบางอย่าง เกี่ยวกับภาวะทางสุขภาพของคุณได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวัดระดับความดันโลหิตทุกครั้ง บทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการตรวจ วัดความดันโลหิต ด้วยตัวเองที่บ้านว่าทำอย่างไร Hello คุณหมอ มีบทความและสาระดีๆ สำหรับการวัดความดันโลหิตมาฝากกันค่ะ

การเตรียมตัวก่อนทำการตรวจ วัดความดันโลหิต

สิ่งที่คุณควรเตรียมตัว ก่อนทำการวัดระดับความดันโลหิต มีดังนี้

  • คุณจำเป็นต้องฟังเสียงชีพจร ฉะนั้นคุณจึงควรหาที่เงียบสงบ ควรนั่งพักเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้ร่างกายไม่เหนื่อย ระบบการหายใจเป็นปกติ ก่อนที่จะทำการวัดระดับความดันโลหิตเพื่อค่าความดันโลหิตที่ชัดเจน ในสภาวะของร่างกายที่เป็นปกติ
  • ควรทำกระเพาะปัสสาวะให้ว่าง เพื่อที่คุณจะได้ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ อย่าวัดระดับความดันโลหิตหากคุณรู้สึกตึงเครียด หลังการออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ หรือรับประทานคาเฟอีน และสูบบุหรี่ภายใน 30 นาที ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อผลการตรวจได้
  • ควรนั่งตัวตรงบนเก้าอี้ เอนหลังหลังให้พิงกับเก้าอี้ ไม่ควรไขว้ขา และวางเท้าราบกับพื้น
  • หากคุณกำลังใส่เสื้อแขนยาว ควรม้วนแขนเสื้อขึ้นไป หากกำลังใส่เสื้อผ้ารัดแขนแน่นๆ ให้ถอดออกเสีย
  • วางแขนไว้ที่ระดับเดียวกับหัวใจ

ขั้นตอนในการ วัดระดับความดันโลหิต

คุณสามารถวัดระดับความดันโลหิตได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นดังนี้ 

  • เริ่มต้นจากการวัดชีพจร วางนิ้วชี้และนิ้วกลางที่ตรงกลางพับข้อศอก
  • พันผ้ารอบต้นแขน ส่วนขอบล่างของผ้า (ส่วนหัวของหูฟังแพทย์) ควรอยู่เหนือพับข้อศอก 2.5 เซนติเมตร บริษัทผู้ผลิตอาจจะใส่ลูกศรเพื่อช่วยให้คุณทราบตำแหน่งของหูฟังของแพทย์

หากคุณใช้เครื่องวัดความดันโลหิต แบบควบคุมด้วยมือ

  • ใส่หูฟังของแพทย์เพื่อฟังเสียงหัวใจเต้น แขนข้างหนึ่งถือเกจวัดความดัน (ดูเหมือนนาฬิกา) และแขนอีกข้างถือส่วนกระเปาะไว้
  • ปิดวาวล์ไหลเวียนอากาศที่กระเปาะ (ตรงเข็มนาฬิกาข้างกระเปาะ)
  • บีบกระเปาะให้ปลอกแขน วัดความดันโลหิตพองขึ้น ขณะที่คอยจับตาดูเกจวัดความดัน หยุดบีบเมื่อเกจ์ขึ้นไปถึง 30 มิลลิเมตรปรอท เหนือความดันตัวบน (systolic pressure) ที่คาดการณ์ไว้ (ตัวเลขบนของค่าความดันโลหิต) คุณจะรู้สึกแน่นที่ต้นแขน
  • ขณะที่กำลังจับตามองดูเกจวัดความดัน ให้ค่อยๆเปิดวาล์วไหลเวียนอากาศที่กระเปาะ
  • ตั้งใจฟังเสียงให้ดี เมื่อได้ยินเสียงชีพจรให้จดจำค่าตัวเลขที่เกจวัดความดัน นับเป็นค่าเลขตัวบน เมื่อคุณได้ยินเสียงครั้งสุดท้ายให้จดบันทึกตัวเลขเป็นค่าความดันตัวล่าง (diastolic pressure)
  • คุณจะไม่ได้ยินเสียงชีพจร หากคุณปล่อยให้ปลอกแขนวัดความดันโลหิตยุบเร็วเกินไป ควรทำตามขั้นตอนข้างบนอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 1 นาที

หากคุณใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล

  • กดปุ่มที่เครื่องวัดความดัน
  • ปลอกแขนวัดความดันโลหิตจะพองตัวขึ้น และคุณจะรู้สึกแน่นที่ต้นแขน
  • ให้จดบันทึกค่าที่แสดงขึ้นบนหน้าจอของเครื่องวัดความดัน

แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณทำการวัดความดันโลหิต ในเวลาที่แน่นอน โดยคุณสามารถจดบันทึก และนำไปให้แพทย์ดูเมื่อถึงเวลาที่แพทย์นัดพบ เพื่อตรวจเช็คค่าของตัวเลขในแต่ละวัน เพื่อเทียบกับการรับประทานยาความดัน (ในผู้ป่วยที่รับประทานยาความดันต่อเนื่องเป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน) ควรตรวจวัดค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

ทำความเข้าใจกับผลการตรวจ

คุณควรวัดระดับความดันโลหิตของคุณ 2 ถึง 3 ครั้งในคราวเดียว และใช้ตัวเลขที่คุณเห็นบ่อยที่สุด ผลการตรวจของคุณจะมีสองตัวเลข ตัวเลขบน คือ ค่าความดันตัวบน (120 มิลลิเมตรปรอท หรือน้อยกว่านั้น คือค่าปกติ) ตัวเลขล่าง คือ ค่าความดันตัวล่าง (80 มิลลิเมตรปรอท หรือน้อยกว่านั้นคือ ค่าปกติ)

หากตัวเลขบนของคุณ คือ 140 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า หรือตัวเลขล่างของคุณ คือ 90 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า นั่นหมายความว่าคุณมีโรคความดันโลหิตสูง (hypertension)

หากค่าความดันโลหิตของคุณนั้นมากกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท หมายความว่า คุณมีภาวะความดันโลหิตสูงเบื้องต้น (pre-hypertension) แม้ว่าคุณจะยังไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ความเสี่ยงของคุณก็มีมาก ควรติดต่อแพทย์ควรจำไว้ว่าเวลาส่วนใหญ่นั้น คุณจะไม่มีอาการใดๆ ของภาวะความดันโลหิต

ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำวิธีการนี้ ไม่เจ็บ รวดเร็วและง่าย คุณสามารถตรวจจับความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูง การวัดระดับความดันโลหิตจะช่วยให้คุณจัดการกับโรคได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และเป็นการสังเกตตัวเองในเบื้องต้นก่อน ไปปรึกษาแพทย์อีกด้วย

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Blood pressure measurement. https://medlineplus.gov/ency/article/007490.htm. Accessed May 19, 2017.

Measuring Blood Pressure. https://www.cdc.gov/bloodpressure/measure.htm. Accessed May 19, 2017.

Monitoring Your Blood Pressure at Home. http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/HighBloodPressure/KnowYourNumbers/Monitoring-Your-Blood-Pressure-at-Home_UCM_301874_Article.jsp. Accessed May 19, 2017.

Checking Your Blood Pressure at Home. http://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/guide/hypertension-home-monitoring#1. Accessed May 19, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/02/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด

ออกกำลังกายลดความดัน แบบไหนได้ผลดีที่สุด?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา