backup og meta

ป้องกันหัวใจวาย ด้วยวิธีไหน และควรปรับไลฟ์สไตล์อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 01/08/2022

    ป้องกันหัวใจวาย ด้วยวิธีไหน และควรปรับไลฟ์สไตล์อย่างไรบ้าง

    ป้องกันหัวใจวาย อาจทำได้ด้วยการดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ ภาวะหัวใจวายเกิดจากการที่สุขภาพหัวใจไม่แข็งแรง มักเป็นผลมาจากการไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ รวมทั้งการสูบบุหรี่จัด และมีความเครียดสะสม หากต้องการป้องกันหัวใจวาย ควรเริ่มต้นปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

    หัวใจวาย คืออะไร

    หัวใจวาย (Heart Attack) เป็นภาวะฉุกเฉินของสุขภาพหัวใจที่เส้นเลือดเกิดการอุดตันเฉียบพลันจนเลือดไม่สามารถเดินทางไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ ทำให้หัวใจขาดเลือดส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่ภาวะหัวใจวายมักเกิดขึ้นกะทันหัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ สัญญาณและอาการของภาวะหัวใจวาย ได้แก่

  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก จนอาจลุกลามไปถึงคอ กราม และหลัง
  • คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนทรวงอก หรือปวดท้อง
  • หายใจถี่
  • เหงื่อออก
  • เหนื่อยล้า
  • วิงเวียนศีรษะฉับพลัน
  • ป้องกันหัวใจวาย ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

    ป้องกันหัวใจวาย สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    ควรเลือกรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า นอกจากนี้ ควรลดการรับประทานเกลือ ไขมันอิ่มตัว ของหวาน เนื้อแดงอย่างเนื้อวัวและเนื้อหมู รวมถึงหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ด้วย

    2. หาวิธีผ่อนคลายความเครียด

    อารมณ์เครียด เช่น ความโกรธ ความเกลียดชัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายได้ ดังนั้น หากรู้สึกตัวว่ากังวลหรือเครียด ควรหาวิธีผ่อนคลายที่ได้ผล เช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การหาเวลาว่างพักผ่อนในช่วงหลังเลิกงาน อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูยูทูป เพื่อบรรเทาความเครียดซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะหัวใจวาย

    3. เลิกบุหรี่

    หากไม่เคยสูบบุหรี่เลย ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และถ้าเลิกบุหรี่ได้แล้ว นับว่ายอดเยี่ยม แต่ถ้ายังสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิกบุหรี่ เนื่องจากแม้แต่ผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่าวันละ 5 มวน ยังปรากฏสัญญาณของโรคหัวใจ ทั้งนี้ หากต้องการเลิกบุหรี่อาจเริ่มต้นด้วยการปรึกษาคุณหมอ และควรเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ ภายใน 1 ปีจึงสามารถลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวายได้

    4. ควบคุมระดับความดันโลหิต

    ความดันโลหิตสูงเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวาย และโรคหัวใจได้ ทั้งนี้ อาจควบคุมระดับความดันโลหิตให้ลดลงได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น รับประทานเกลือให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน เนื่องจากยิ่งรับประทานเกลือมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงมากเท่านั้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำอาจช่วยควบคุมความดันโลหิตได้

    5. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    สำหรับผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) หรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอถึงแนวทางในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญ ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

    6. ตรวจสอบระดับคอเลสเตอรอล

    คอเลสเตอรอล ไขมัน และแคลเซียม สามารถก่อตัวเป็นคราบพลัก (Plaque) เกาะสะสมบนผนังหลอดเลือด จนนำไปสู่อาการหัวใจวายได้ ดังนั้น ควรเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อวัดระดับคอเลสเตอรอล หากมีคอเลสเตอรอลสูง คุณหมออาจสั่งยาให้รับประทานยาเพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

    7. ควบคุมน้ำหนักตัว

    หากมีน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วน มักมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนทำให้หัวใจทำงานหนัก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เมื่อลดน้ำหนักลง มักส่งผลให้ระดับความดันโลหิตดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวายได้อีกด้วย

    8. ออกกำลังกายเป็นประจำ

    การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดความดันโลหิต และช่วยทำให้ระดับคอเลสเตอรอลดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักด้วย โดยอาจเริ่มออกกำลังกายแบบง่าย ๆ เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์

    9. เข้าสังคม พบปะผู้คน

    ผู้ที่มีโอกาสพูดคุยและเข้าสังคม มักเสี่ยงต่ำต่อการมีปัญหาสุขภาพหัวใจ เพราะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหันเหความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของตนเองไปยังเรื่อยอื่น ๆ การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือกับเพื่อนบ้าง จึงอาจช่วยให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นและแข็งแรงขึ้นด้วย

    10. ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    ผู้ที่ดื่มแอลกอลฮอล์เป็นประจำ ควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 14 ยูนิตต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ 6 แก้วต่อสัปดาห์

     

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 01/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา