backup og meta

งูสวัด (Shingles)

งูสวัด (Shingles)

งูสวัด เป็นอาการผื่นผิวหนังที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ส่วนใหญ่อาการจะปรากฏเป็นแนวตุ่มข้างลำตัว

คำจำกัดความ

งูสวัดคืออะไร

งูสวัด (shingles) เป็นอาการผื่นผิวหนังที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (varicella-zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส แม้ว่าเมื่อหายจากอาการอีสุกอีใสแล้ว แต่เชื้อยังคงอยู่ในระบบประสาทนานนับปี จนกลับมาทำให้เกิดอาการงูสวัดได้

แม้ว่าทุกส่วนของร่างกายสามารถเกิดอาการงูสวัดได้ แต่ส่วนใหญ่อาการจะปรากฏเป็นแนวตุ่มข้างลำตัว

ผู้สูงอายุและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคงูสวัด หรือเนื่องจากความเครียด การบาดเจ็บ ยาบางประเภทและสาเหตุอื่นๆ

โรคงูสวัดอาจเป็นอาการที่ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรวจหาให้ทราบโดยเร็ว และรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยลดการติดเชื้อ และทำให้โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนลดลง

โรคงูสวัดพบบ่อยแค่ไหน

โรคงูสวัดเกิดขึ้นได้บ่อยมาก และสามารถรักษาได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของโรคงูสวัด

อาการกลุ่มแรกของโรคงูสวัดคืออาการเจ็บและรู้สึกแสบร้อน อาการเจ็บมักเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย และเกิดผื่นเล็กๆ ขึ้น และมักเกิดผื่นแดงตามมา โดยลักษณะของผื่นมีดังนี้คือ

  • เกิดปื้นแดง
  • เกิดตุ่มน้ำที่แตกง่าย
  • เกิดผื่นจากสันหลังไปรอบตัว
  • เกิดผื่นที่หน้าและใบหู
  • มีอาการคัน

ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการนอกเหนือจากการเจ็บปวด และผื่นจากโรคงูสวัด อาการเหล่านี้ ได้แก่

  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่เกิดขึ้นไม่บ่อยของโรคงูสวัด ได้แก่

  • ปวดหรือเกิดผื่นที่ตา ที่ควรได้รับการรักษา เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดกับดวงตา
  • สูญเสียการได้ยินหรือปวดหูข้างใดข้างหนึ่งรุนแรง เวียนศรีษะ หรือลิ้นไม่สามารถรับรสได้ ซึ่งเป็นอาการของกลุ่มอาการแรมซีย์ ฮันท์ (ramsay hunt syndrome)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากผิวหนังเกิดอาการแดง บวม และรู้สึกร้อนเมื่อสัมผัส

อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น ดังนั้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ ควรปรึกษาแพทย์

ควรพบหมอเมื่อใด

คุณควรพบหมอหากคุณมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวด หรือผื่นที่บริเวณใกล้ดวงตา หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา การติดเชื้อนี้สามารถนำไปสู่ความเสียหายกับดวงตาถาวรได้
  • เมื่อคุณมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการแทรกซ้อนได้อย่างมาก
  • คุณหรือบุคคลในครอบครัวมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เนื่องจากเป็นมะเร็ง การใช้ยา หรือโรคเรื้อรัง)
  • ผื่นขยายวงกว้างและเกิดอาการเจ็บ

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุไว้ข้างต้น ประสบกับปัญหา หรือมีคำถาม ควรปรึกษาแพทย์ การเข้าพบหมอเพื่อพูดคุยถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคงูสวัด

  • ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (varicella-zoster virus) ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของโรคงูสวัด และเป็นไวรัสชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสอาจเกิดโรคงูสวัดได้ หลังจากหายจากโรคอีสุกอีใส ไวรัสจะเข้าสู่ระบบประสาท และไม่แสดงอาการนานนับปี ในที่สุด ไวรัสจะเริ่มแสดงปฏิกิริยา และเดินทางไปตามทางเดินระบบประสาท จนเกิดอาการที่ผิวหนัง
  • ยาบางชนิดสามารถกระตุ้นไวรัส และทำให้เกิดผื่นงูสวัด ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงสาเหตุของกรณีนี้ แต่หลังจากที่ไวรัสเริ่มออกฤทธิ์อีกครั้ง จะทำให้เกิดอาการงูสวัด แต่ไม่ทำใหเกิดโรคอีสุกอีใส

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคงูสวัด

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคงูสวัด เช่น

  • อายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไป
  • เป็นโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เอชไอวี เอดส์ หรือมะเร็ง
  • เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี
  • ใช้ยาที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น สเตียรอยด์ หรือยาที่ต้องใช้หลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลนี้ไม่สามารถใช้แทนคำแนะนำทางการแพทย์ได้ ควรปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคงูสวัด

  • อาการของโรคงูสวัดโดยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยจากการตรวจร่างกาย ตรวจดูที่ผื่นและตุ่มน้ำ แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาและการรักษา
  • ในบางกรณี อาจต้องมีการตรวจตัวอย่างผิวหนังหรือของเหลวจากตุ่มน้ำ การตรวจวิธีนี้จะใช้สำลีที่ปลอดเชื้อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลว ตัวอย่างที่เก็บได้จะถูกส่งไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาไวรัส

การรักษาโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัดเบื้องต้นที่สามารถบรรเทาอาการของโรค มีดังนี้

  • การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ประคบเย็นบริเวณที่เป็นผื่นเพื่อลดอาการเจ็บและคัน
  • ทาคาลามายน์โลชั่นเพื่อลดอาการคัน
  • แช่คอลโลดัล โอ๊ตมีลเพื่อบรรเทาอาการเจ็บและอาการคัน

ยังไม่มีการรักษางูสวัด แต่การรักษาโดยทันทีด้วยยาต้านไวรัสที่แพทย์สั่งเพื่อช่วยเร่งการบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงการเกิดอาการแทรกซ้อน กลุ่มยาดังกล่าว ได้แก่

  • อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) อย่างโซวิแรกซ์ (Zovirax)
  • วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) อย่างวาลเทรกซ์ (Valtrex)
  • แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) อย่างแฟมเวียร์ (Famvir)

โรคงูสวัดยังทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรง ดังนั้น แพทย์อาจสั่งยา ดังต่อไปนี้

  • ครีมแคปไซซิน (Capsaicin cream)
  • ยากันชัก (Anticonvulsants) เช่น กาบ้าเพนติน (gabapentin) อย่าง นูรอนติน (Neurontin)
  • ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) เช่น อะมิทริปไทลีน (amitriptyline)
  • ยาทำให้เกิดอาการชา เช่น ลิโดเคน (lidocaine) ในรูปแบบครีม เจล สเปรย์ หรือแผ่นปิดผิว
  • ยาที่มีส่วนผสมของนาร์โคติค เช่น โคเดอีน (codeine)
  • ยาฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไล์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่อาจช่วยจัดการกับงูสวัด

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการเยียวยาตนเองที่อาจช่วยรับมือกับโรคงูสวัดได้แก่

  • การฉีดวัคซีน สามารถป้องกันการเกิดอาการงูสวัดที่รุนแรง หรืออาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดได้

โรคงูสวัดเป็นโรคติดต่อ วิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ ประกอบด้วย

  • การปิดบริเวณที่เป็นผื่นแผล
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือมีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ล้างมือบ่อยๆ

หากคุณมีคำถาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความเข้าใจการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Shingles http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shingles/basics/lifestyle-home-remedies/con-20019574. Accessed March 30, 2017

Shingles – Topic Overview http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/shingles/shingles-topic-overview#2. Accessed March 30, 2017

Shingles http://www.healthline.com/health/shingles#prevention9. Accessed March 30, 2017

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/08/2019

เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chris


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้หวัดนก (H5N1) โรคระบาดอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง!

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป 'LAAB' เสริมภูมิประชากรกลุ่มเสี่ยง ป้องกันได้ 83%


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 27/08/2019

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา