backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ริดสีดวงตา (Trachoma)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ริดสีดวงตา (Trachoma)

ริดสีดวงตา คือการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อดวงตา เป็นโรคติดต่อ และแพร่กระจายโดยการสัมผัสที่ดวงตา เปลือกตา และน้ำมูกหรือเสมหะในลำคอของผู้ป่วย โรคนี้อาจแพร่กระจายโดยการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า

คำจำกัดความ

ริดสีดวงตา คืออะไร

ริดสีดวงตา (Trachoma) คือการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อดวงตา โรคนี้เป็นโรคติดต่อ และแพร่กระจายโดยการสัมผัสที่ดวงตา เปลือกตา และน้ำมูกหรือเสมหะในลำคอของผู้ป่วย โรคนี้อาจแพร่กระจายโดยการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า

ในระยะแรก ริดสีดวงตาอาจทำให้เกิดอาการคัน หรือระคายเคืองตาและเปลือกตา ที่ไม่รุนแรง จากนั้น คุณอาจสังเกตถึงเปลือกตาที่บวมและหนองที่ไหลออกจากดวงตา ริดสีดวงที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้

องค์การอนามัยโรคได้ระบุระยะโรคของริดสีดวงตาไว้ 5 ระยะดังนี้

  • การอักเสบที่เซลล์ฟอลลิเคิล (folicular) ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มติดเชื้อ โดยเซลล์ฟอลลิเคิล 5 เซลล์ หรือมากกว่านั้น จะปรากฏให้เห็นตุ่มเล็กๆ ที่มีลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้กล้องส่องขยายดูที่พื้นผิวด้านในของเปลือกตาบน (เยื่อบุตา)
  • การอักเสบขั้นรุนแรง ในระยะนี้ ดวงตาของคุณจะติดเชื้ออย่างรุนแรงและเริ่มมีอาการระคายเคือง พร้อมทั้งยังรู้สึกถึงเปลือกตาบนที่หนาขึ้นหรือบวมขึ้น
  • รอยแผลเป็นที่เปลือกตา การติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จะนำไปสู่การเกิดรอยแผลเป็นที่ข้างในเปลือกตา รอยแผลเป็นมักจะเห็นเป็นเส้นสีขาว เมื่อตรวจด้วยการขยายภาพ เปลือกตาของคุณอาจเปลี่ยนรูปและอาจจะม้วนเข้า
  • ขนตาคุด (trichiasis) รอยแผลเป็นข้างในเปลือกตาจะเปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆ ทำให้ขนตาของคุณม้วนเข้า จนขนตาเหล่านั้นสัมผัสหรือเสียดสีกับพื้นผิวภายนอกที่โปร่งใสของดวงตาหรือกระจกตา (cornea)
  • กระจกตาขุ่น (Corneal clouding) กระจกตาที่ติดเชื้อจากการอักเสบมักพบได้บ่อยที่สุดที่ใต้เปลือกตาบน การติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเสียดสีจากขนตาที่ม้วนเข้าในดวงตา จะทำให้กระจกตาขุ่น

ริดสีดวงตาเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

ริดสีดวงตาเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดซึ่งสามารถป้องกันได้ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า ผู้คนกว่า 6 ล้านคนตาบอด เพราะริดสีดวงตา ภาวะตาบอดจากริดสีดวงตาส่วนมากจะเกิดขึ้นในเขตยากจนของแอฟริกา ในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อัตราการติดเชื้อริดสีดวงตาที่เกิดขึ้นอาจมีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของริดสีดวงตา

อาการทั่วไปของริดสีดวงตาคือ

  • คันเล็กน้อย รวมถึงระคายเคืองตาและเปลือกตา
  • มีของเหลวไหลออกจาดวงตา โดยที่มีเมือกหรือหนองเป็นส่วนประกอบ
  • ตาบวม
  • ภาวะดวงตาไวต่อแสง (photophobia)
  • ปวดตา

เด็กเล็กๆ มักจะติดเชื้อได้ง่าย แต่โรคนี้มักใช้เวลาในการพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ และอาการที่เจ็บปวดเป็นอย่างมาก อาจจะไม่ปรากฏจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

สัญญาณของริดสีดวงตาจะรุนแรงกว่าที่เปลือกตาบน เมื่อเทียบกับที่เปลือกตาล่าง โดยเปลือกตาบนอาจมีเส้นหนาๆ หากคุณมีรอยแผลเป็นที่รุนแรง

นอกจากนี้ เนื้อเยื่อต่อมที่หลั่งสารหล่อลื่นในเปลือกตา รวมถึงต่อมน้ำตา อาจติดเชื้อด้วย นี่จะทำให้เกิดอาการตาแห้งอย่างรุนแรง และทำให้ปัญหาแย่ลงได้เป็นอย่างมาก

อาจมีอาการที่ไม่ได้ระบุถึงข้างต้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

เมื่อไหร่ที่ควรไปโรงพยาบาล

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามอื่นๆ โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายแต่ละคนตอบสนองต่างกัน ทางที่ดีที่สุดคือปรึกษาแพทย์ว่า อะไรเป็นทางออกที่ดีที่สุด สำหรับสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของริดสีดวงตา

ริดสีดวงตาเกิดจากแบคทีเรียในกลุ่มคลาไมเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) บางชนิด แบคทีเรียชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างโรคคลาไมเดีย (chlamydia)

ริดสีดวงตาจะแพร่กระจายผ่านการสัมผัสของเหลวจากดวงตา หรือจมูก ของผู้ติดเชื้อ มือ เสื้อผ้า ผ้าขนหนู รวมถึงแมลงอาจเป็นพาหะของโรค ในประเทศที่กำลังพัฒนา แมลงวันที่ตอมดวงตาถือเป็นพาหะของโรคเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคริดสีดวงตา

มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่จะทำให้เป็นโรคริดสีดวงตา เช่น

  • โรคริดสีดวงตาเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ในกลุ่มประชากรที่ยากจนอย่างมาก ในประเทศกำลังพัฒนา
  • การอยู่อย่างแออัด ประชากรที่อยู่ใกล้ชิดกันมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้มากกว่า
  • สุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม สภาพแวดล้อมที่มีสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม และไม่สะอาด เช่น ใบหน้าหรือมือที่ไม่สะอาด อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้มากขึ้น
  • บริเวณที่เชื้อโรคแพร่กระจาย เด็กอายุ 4 ถึง 6 ปีมักจะเป็นโรคนี้
  • ในบางบริเวณ ผู้หญิงจะติดเชื้อมากกว่าผู้ชาย 2 ถึง 6 เท่า
  • ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาในการจัดการกับประชากรแมลงวัน อาจเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากกว่า
  • ขาดห้องน้ำสาธารณะ ประชากรที่ไม่อาจเข้าถึงห้องน้ำสาธารณะได้ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่า

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยริดสีดวงตา

การตรวจเพื่อวินิจฉัยริดสีดวงตาอาจรวมถึงสิ่งต่อไปนี้ได้แก่

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจตาได้แก่การปลิ้นหรือพลิกเปลือกตาออก
  • การเก็บเชื้อจากดวงตาไปตรวจในห้องปฏิบัติการ แต่การวินิจฉัยมักจะทำโดยการตรวจในคลินิก

การรักษาริดสีดวงตา

การรักษาริดสีดวงตาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่อาจรวมถึงวิธีการเหล่านี้

  • ยาปฏิชีวนะ การรับประทานยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกว่ายาอะซิโทรมัยซิน (azithromycin) หนึ่งครั้งถือเป็นขั้นแรกของการรักษาโรคในกรณีที่ไม่รุนแรง ยานี้จะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อที่ร่างกายจะได้เยียวยาดวงตาตามธรรมชาติ ยาปฏิชีวนะอาจใช้สำหรับสมาชิกในบ้านทุกคน ในกรณีที่มีผู้ป่วยคนใดคนหนึ่ง ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายเชื้อ ชุมชมทั้งหมดอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา การรักษาอาจจำเป็นต้องทำซ้ำทุก 6 ถึง 12 เดือน
  • การผ่าตัด ใช้เพื่อเปลี่ยนรูปร่างของเปลือกตาที่ผิดรูป และในกรณีของผู้สูงอายุ คือการแก้ไขขนตาที่ม้วนเข้าซึ่งทำให้ดวงตาบาดเจ็บ
  • การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการกับริดสีดวงตา

    ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณไม่เป็นริดสีดวงตาได้

    • ล้างใบหน้าและมือ ทำอาหารให้สะอาด อาจช่วยหยุดวงจรการกลับมาติดเชื้อ
    • ควบคุมจำนวนแมลงวัน การลดจำนวนประชากรแมลงวันอาจช่วยกำจัดพาหะหลักที่แพร่กระจายเชื้อโรค
    • การจัดการของเสียที่เหมาะสม การจัดการกับของเสียของสัตว์และมนุษย์ที่เหมาะสม สามารถลดจำนวนพื้นที่ที่แมลงวันจะผสมพันธุ์
    • พัฒนาการเข้าถึงน้ำ การมีแหล่งน้ำสะอาดในบริเวณใกล้เคียงอาจช่วยพัฒนาสุขลักษณะ

    หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา