backup og meta

Hypogonadism คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

Hypogonadism คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

ฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Hypogonadism) เป็นอาการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ได้มากเพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตและพัฒนาของเพศชายขณะที่อยู่ในวัยรุ่น หรือมีความสามารถในการผลิตอสุจิได้ต่ำ หรือทั้ง 2 อาการ โดยฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรืออาจเกิดขึ้นภายหลังก็ได้เช่นกัน

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

Hypogonadism คือ อะไร

Hypogonadism คือ อาการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนได้มากเพียงพอ ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตและพัฒนาของเพศชายขณะที่อยู่ในวัยรุ่น หรือมีความสามารถในการผลิตอสุจิได้ต่ำ หรือทั้ง 2 อาการ

ฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุ และช่วงเวลาของการเกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ ซึ่งภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำบางประเภทอาจรักษาได้ด้วยการบำบัดทดแทนฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน

Hypogonadism พบได้บ่อยได้แค่ไหน

ฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ชายทุกช่วงอายุ แต่อาการฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนต่ำนั้นมักจะพบมากในผู้ชายสูงอายุ มากกว่า 60% ของผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 ปีนั้น มีปริมาณของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนกว่าระดับปกติของผู้ชายที่อายุ 30-35 ปี

อาการ

อาการของ Hypogonadism

การขาดฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนอาจทำให้เกิดอาการได้มากมาย โดยอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • อายุขณะที่มีอาการ
  • ระดับของการขาดฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน
  • อาการเกิดขึ้นมานานเท่าไหร่แล้ว

หากฮอร์โมนเพศชายต่ำ เกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ช่วงต้นที่ยังไม่แตกหนุ่มอย่างเต็มตัว อาจทำให้ดูเด็กกว่าอายุจริง มีองคชาตขนาดเล็ก มีหนวดน้อย เสียงไม่แตกหนุ่ม และสร้างมวลกล้ามเนื้อได้ยาก แม้จะออกกำลังกาย แต่ถ้าฮอร์โมนเพศชายต่ำเกิดขึ้นกับผู้ที่เริ่มแตกหนุ่มอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • การพัฒนาทางเพศไม่สมบูรณ์
  • ขนาดของอัณฑะลดลง
  • หน้าอกใหญ่

สำหรับอาการของฮอร์โมนเพศชายต่ำที่เกิดขึ้นในผู้เริ่มเป็นผู้ใหญ่ อาจมีดังนี้

  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ปริมาณของอสุจิต่ำ
  • อารมณ์หดหู่
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • เซื่องซึม
  • การนอนหลับผิดปกติ
  • มวลกล้ามเนื้อและพละกำลังลดลง
  • ขนบริเวณอวัยวะเพศ รักแร้ และใบหน้าร่วง
  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกลดลง
  • ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น
  • ไม่สบายที่หน้าอกและหน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • ร้อนวูบวาบ
  • เหงื่อออก
  • ไม่มีสมาธิ ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ควรไปพบหมอเมื่อไร

ถ้ามีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของ Hypogonadism

ฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำแบบปฐมภูมิ อัณฑะจะไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นฮอร์โมน อาจเกิดได้จากโรคประจำตัว เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter’s Syndrome) หรือเป็นผลมาจากการทำฉายรังสีบำบัด เคมีบำบัด เนื้องอก หรือการบาดเจ็บที่อัณฑะ

สำหรับฮอร์โมนเพศชายต่ำแบบทุติยภูมิ เป็นสภาวะของโรคที่ส่งผลกระทบต่อไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) หรือต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ซึ่งเป็นต่อมหลักที่ปล่อยฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นอัณฑะและผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน

โดยสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดฮอร์โมนเพศชายต่ำทุติยภูมิ อาจมีดังนี้

  • ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)
  • โรคที่เกิดกับร่างกายทุกส่วน (Systemic Illness)
  • ความเครียด
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด
  • ตับแข็ง
  • สารพิษ เช่น แอลกอฮอล์ โลหะหนัก
  • โรคอ้วน

ใบบางครั้งคำว่าผู้ชายวัยทอง (Andropause) อาจใช้เพื่ออธิบายถึงการลดลงของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ว่าเป็นขั้นปกติของอายุที่เพิ่มขึ้น ระดับของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนในผู้ชายจะเพิ่มขึ้นจนถึงอายุ 17 ปี หลังจากนั้นในช่วงอายุประมาณ 40 ปี จะเริ่มลดลงปีละ 1.2%-2%

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ Hypogonadism

ปัจจัยเสี่ยงของฮอร์โมนเพศชายต่ำ อาจมีดังนี้

  • กลุ่มอาการคาลล์แมน (Kallmann Syndrome)
  • อัณฑะอ่อนแอขณะเป็นทารก
  • การติดเชื้อคางทูมที่มีผลต่ออัณฑะ
  • การบาดเจ็บที่อัณฑะ
  • เนื้องอกที่อัณฑะหรือต่อมใต้สมอง
  • เอชไอวี/เอดส์
  • กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
  • เคยทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสีบำบัดมาก่อน
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ที่ไม่ได้รับการรักษา

ฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากคนในครอบครัวมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โปรดแจ้งคุณหมอในทันที

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับคุณหมอทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย Hypogonadism

คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายโดยการบันทึกว่า พัฒนาการทางเพศ เช่น ขนในที่ลับ มวลกล้ามเนื้อ ขนาดของอัณฑะ เหมาะสมกับอายุหรือไม่ คุณหมออาจต้องตรวจเลือด เพื่อดูระดับของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนว่า มีสัญญาณหรืออาการของฮอร์โมนเพศชายต่ำหรือไม่

การตรวจพบโรคได้เร็วสำหรับเด็กผู้ชายอาจช่วยป้องกันปัญหาจากการแตกหนุ่มช้า การตรวจพบโรคและรักษาโรคได้เร็วสำหรับผู้ชายอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้

คุณหมอจะวินิจฉัยฮอร์โมนเพศชายต่ำ โดยขึ้นอยู่กับอาการและผลตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน เนื่องจากระดับของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนนั้นมักจะสูงมากในช่วงเช้า การตรวจเลือดจึงมักทำในช่วงเช้า ก่อน 10 โมงเช้า

หากผลตรวจยืนยันว่า มีระดับของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนต่ำ จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อบ่งชี้ว่า เป็นสาเหตุจากอาการผิดปกติของอัณฑะหรือต่อมใต้สมอง โดยการตรวจเพิ่มเติมอาจทำได้ ดังนี้

  • การตรวจฮอร์โมน
  • การวิเคราะห์อสุจิ
  • การฉายภาพของต่อมใต้สมอง
  • การศึกษากรรมพันธุ์
  • การตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างจากอัณฑะเพื่อไปตรวจ

การตรวจฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนนั้น อาจช่วยให้คุณหมอสามารถบ่งชี้ขนาดยา และยาที่ถูกต้อง เพื่อรักษาฮอร์โมนเพศชายต่ำทั้งในระยะเริ่มต้นและเมื่อเวลาผ่านไป

การรักษา Hypogonadism

การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone Replacement Therapy หรือ TRT) เป็นการรักษาที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำ

โดยปกติแล้วจะให้เป็นยาเจลใช้เฉพาะที่ แผ่นแปะยาที่ผิวหนัง หรือการฉีดยา ไม่มีการใช้ยาเม็ดฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการท้องไส้ปั่นป่วน

การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน อาจช่วยกำจัดสัญญาณและอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำได้มากมาย หรืออาจจะทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนอาจมีข้อดี ดังนี้

  • มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น
  • ทำให้อารมณ์ดีขึ้น
  • เพิ่มความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวม

สำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน อาจมีดังนี้

  • โรคต่อมลูกหมากโตแย่ลงไปมากกว่าเดิม
  • เร่งความเร็วของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีอยู่ก่อนแล้ว
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ และโรคหัวใจวายแย่ลง

ดังนั้น ผู้ชายที่ทำการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน จำเป็นต้องมีการประเมินทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจเลือดเป็นประจำ การตรวจทางทวารหนักเป็นครั้งคราว เพื่อตรวจหาการตอบสนองที่เพียงพอต่อการรักษา นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงข้น (Erythrocytosis) ซึ่งอาการที่เกี่ยวข้องกับเปอร์เซ็นต์ของเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดสูง ไม่ควรทำการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน

การตอบสนองต่อการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และระดับของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าใครจะตอบสนองต่อการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนหรือไม่ นอกจากนี้ การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนอาจช่วยบรรเทาอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำได้ แต่อาจไม่สามารถฟื้นฟูความเจริญพันธุ์ให้กลับมาเหมือนเดิมได้

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์หรือการดูแลตัวเองที่จะช่วยรับมือฮอร์โมนเพศชายต่ำ

การปรับไลฟ์สไตล์หรือการดูแลตัวเอง เพื่อช่วยรับมือฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจทำได้ ดังนี้

  • ลดน้ำหนัก
  • ออกกำลังกาย
  • จัดการกับความเครียด
  • นอนหลับให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกบุหรี่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Male hypogonadism. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/male-hypogonadism/symptoms-causes/syc-20354881. Accessed December 14, 2017.

Male hypogonadism: Symptoms and treatment. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3255409/. Accessed September 21, 2022

Male Hypogonadism. https://www.sparrow.org/departments-conditions/conditions/male-hypogonadism. Accessed September 21, 2022

Hypogonadism. https://medlineplus.gov/ency/article/001195.htm. Accessed September 21, 2022

Hypogonadism in Men. https://www.endocrine.org/patient-engagement/endocrine-library/hypogonadism. Accessed September 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮอร์โมนเพศชาย คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

7 วิธี เพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน สำหรับผู้ชาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา