ไขมันพอกตับ (Fatty liver) คือ ภาวะการก่อตัวของไขมันในตับ หากในตับมีไขมันมันมากกว่าร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตับ จะถือว่ามีภาวะไขมันพอกตับ ภาวะนี้พบได้ทั่วไป และมักไม่แสดงอาการให้สังเกตเห็นได้ง่าย อย่างไรก็ตาม สามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม และไขมันพอกตับมักไม่ทำให้ตับเสียหายถาวร
คำจำกัดความ
ไขมันพอกตับ คืออะไร
ไขมันพอกตับ (Fatty liver) หรือไขมันจับตับ (Steatosis) คือ ภาวะการก่อตัวของไขมันในตับ แม้ว่าปกติตับจะมีไขมันอยู่แล้ว แต่หากมีปริมาณไขมันมากกว่าร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตับ จะถือว่ามีภาวะไขมันพอกตับ ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ไขมันพอกตับมักไม่มีอาการและมักไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร
ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในร่างกาย มีหน้าที่จัดการทุกสิ่งที่รับประทานหรือดื่มเข้าไป รวมทั้งช่วยกรองสารพิษตกค้างจากกระแสเลือด กระบวนการดังกล่าวจะถูกขัดขวางหากมีไขมันมากเกินไป ตับมักซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างเซลล์ใหม่เมื่อเซลล์เดิมเสียหาย หากตับเกิดความเสียหายซ้ำ ๆ จะเกิดพังผืดถาวรขึ้น เรียกว่าตับแข็ง (cirrhosis)
ไขมันพอกตับ พบได้บ่อยแค่ไหน
ไขมันในตับพบได้ทั่วไป ผู้ที่มีไขมันในตับมากเกินไปมักไม่มีอาการอักเสบหรือเกิดความเสียหายใด ๆ ที่ทำให้สังเกตได้ อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง
อาการ
อาการของไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับมักไม่มีอาการที่สัมพันธ์กัน อาจมีอาการอ่อนเพลีย หรือปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ ตับอาจโตขึ้นเล็กน้อย โดยคุณหมอสามารถตรวจพบได้ในระหว่างการตรวจร่างกาย
ไขมันส่วนเกินสามารถทำให้ตับอักเสบ จนส่งผลให้เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดท้อง อ่อนเพลีย และมึนงง
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์
สาเหตุ
สาเหตุของไขมันพอกตับ
สันนิษฐานว่าสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของโรคไขมันพอกตับ คือ โรคพิษสุราเรื้อรัง และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสม แต่ในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นพิษสุราเรื้อรัง คุณหมอยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับจะมีอาการมากขึ้นเมื่อร่างกายสร้างไขมันมากเกินไป หรือไม่สามารถเผาผลาญไขมันได้เร็วพอ ไขมันส่วนเกินจะถูกเก็บในเซลล์ตับ และสะสมมากขึ้นจนทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ ส่วนการรับประทานอาหารไขมันสูงนั้น ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของไขมันพอกตับ
ภาวะดังต่อไปนี้อาจทำให้เสี่ยงเกิดไขมันพอกตับได้
- โรคอ้วน
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
ไขมันพอกตับเป็นการก่อตัวของไขมันส่วนเกินในตับ และมีโอกาสเกิดได้มากกว่าในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็มีความเสี่ยงในการเป็นไขมันพอกตับเช่นกัน เนื่องจากการสะสมของไขมันในตับสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
นอกจากนี้ ภาวะไขมันพอกตับยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด ได้แก่ แอสไพริน สเตียรอยด์ ทามอคซิเฟน (tamoxifen) เททราไซคลีน (tetracycline)
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การใช้ยาบางชนิด เช่น อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เกินขนาด
- ภาวะคอเลสเตอรอลสูง
- ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
- ภาวะทุพโภชนาการ
- โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหาร
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยไขมันพอกตับ
หากคุณหมอสงสัยว่ามีภาวะไขมันพอกตับ คุณหมอจะตรวจวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือด
คุณหมออาจพบว่าเอนไซม์ในตับมีค่าสูงกว่าปกติ แต่สิ่งนี้ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ การวิเคราะห์ในลำดับต่อไปเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหาสาเหตุของอาการตับอักเสบ
- อัลตราซาวด์
ไขมันที่ตับจะมองเห็นเป็นสีขาวในภาพอัลตราซาวด์ อาจมีการตรวจประเภทอื่น เช่น ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ ซึ่งช่วยในการตรวจจับไขมันในตับเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยให้คุณหมอยืนยันความเสียหายในอนาคตได้
- การตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อตับ
ในการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อตับ คุณหมอจะสอดเข็มไปที่ตับเพื่อนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจ และใช้ยาชาเพื่อให้อาการปวดลดลง ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ทราบอย่างแน่ชัดว่ามีไขมันพอกตับหรือไม่ อีกทั้ง การตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อตับยังช่วยให้คุณหมอระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ด้วย
การรักษาไขมันพอกตับ
ยังไม่มียาหรือการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไขมันพอกตับโดยเฉพาะ แต่คุณหมอจะให้ข้อแนะนำเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่
- จำกัดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล
- ลดน้ำหนัก
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
หากเป็นไขมันพอกตับเนื่องจากโรคอ้วน หรือนิสัยการรับประทานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ คุณหมออาจแนะนำให้เพิ่มการออกกำลังกาย และงดอาหารบางประเภท การลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน สามารถช่วยให้ลดน้ำหนักและรักษาตับได้
การลดหรืองดอาหารที่มีไขมัน และอาหารที่มีน้ำตาลสูง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น เช่น ผลไม้สด ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด และบริโภคโปรตีนไขมันต่ำจากไก่และปลา แทนเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ก็อาจช่วยรักษาไขมันพอกตับได้เช่นกัน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการภาวะไขมันพอกตับ
ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด หากมีภาวะโรค เช่น เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง ควรใช้ยาตามคุณหมอสั่งจ่าย นอกจากนี้ ควรเพิ่มการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง เพื่อรักษาน้ำหนักที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]