backup og meta

ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน (Home Blood Glucose Test)

ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน (Home Blood Glucose Test)

ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน (Home Blood Glucose Test) เป็นการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยสามารถตรวจได้ที่บ้านหรือที่ใดๆ ก็ตาม โดยใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา

 

ข้อมูลพื้นฐาน

การ ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน คืออะไร

ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน (home blood glucose test) เป็นการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยสามารถตรวจได้ที่บ้านหรือที่ใด ๆ ก็ตาม โดยใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา

การตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน สามารถใช้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตัวเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่ในการตรวจ ซึ่งความถี่ของการตรวจขึ้นอยู่กับว่าการรักษาโรคเบาหวานมีการควบคุมได้ดีเพียงใด รวมทั้งปัจจัยสุขภาพโดยรวมด้วย

สำหรับผู้ที่ใช้อินซูลินเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอาจจำเป็นต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น

สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้อินซูลินหรือไม่ใช้เลย การทดสอบน้ำตาลในเลือดอาจมีประโยชน์สำหรับการทดสอบว่าร่างกายของเรามีปฏิกิริยาต่ออาหาร อาการเจ็บป่วย ความเครียด การออกกำลังกาย ยา และกิจกรรมอื่นๆ ได้ดีเพียงใด โดยการทดสอบก่อนและหลังรับประทานอาหารจะช่วยให้เราปรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสมได้

เครื่องตรวจน้ำตาลบางประเภทสามารถบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดได้นับร้อยค่า ทำให้สามารถศึกษาค่าน้ำตาลในเลือดที่บันทึกไว้เมื่อเวลาผ่านไป และสามารถคาดการณ์เกี่ยวกับระดับน้ำตาลในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน อีกทั้งยังสามารถหาความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้สามารถบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแปลงข้อมูลเป็นกราฟหรือรูปแบบอื่น เพื่อให้วิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน เครื่องตรวจน้ำตาลรุ่นใหม่ ๆ สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องอินซูลินปั๊ม ซึ่งเป็นเครื่องปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายในระหว่างวัน เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยกำหนดปริมาณอินซูลินที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดตามที่ตั้งค่าไว้

ความจำเป็นในการตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

แพทย์จะแนะนำเกี่ยวกับความถี่ที่ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยขึ้นอยู่กับประเภทของโรคเบาหวานและแผนในการรักษา

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจน้ำตาลในเลือดจำนวน 4-8 ครั้งต่อวัน และอาจจำเป็นต้องตรวจก่อนรับประทานอาหารและอาหารว่าง ก่อนและหลังออกกำลังกาย ก่อนนอน และในบางครั้งในตอนกลางคืน ทั้งยังอาจจำเป็นต้องตรวจบ่อยขึ้นหากมีอาการป่วย หรือมีการเปลี่ยนเแปลงกิจวัตรประจำวัน หรือเริ่มใช้ยาใหม่
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หากต้องใช้อินซูลินเพื่อควบคุมโรคเบาหวานประเภท 2 แพทย์อาจแนะนำการตรวจน้ำตาลในเลือด 2 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า โดยขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณอินซูลินที่จำเป็น

การตรวจมักแนะนำก่อนอาหารและในบางครั้งก่อนนอน แต่หากมีการควบคุมโรคด้วยอาหารและการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้อินซูลิน อาจไม่จำเป็นตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจ

ข้อควรรู้ก่อนตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

  • หากคิดว่าการผลตรวจจากเครื่องแตกต่างจากที่คาดไว้ ให้ตรวจซ้ำอีก
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน ควรพบคุณหมอก่อนคลอดอย่างสม่ำเสมอ และควรตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้านเป็นประจำ โดยหญิงมีครรภ์ที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงที่แพทย์แนะนำ เด็กที่คลอดออกมามีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพแข็งแรง และลดโอกาสการเกิดอาการแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับเบาหวานได้
  • การตรวจปัสสาวะอาจใช้ตรวจหาภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจเลือดเพื่อหาสารคีโตน (ketones) ได้ด้วย

ขั้นตอนการตรวจ

การเตรียมตัวก่อน ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

การตรวจน้ำตาลในเลือดจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา เครื่องมือนี้จะวัดปริมาณน้ำตาลจากตัวอย่างเลือดปริมาณเล็กน้อยจากการเจาะปลายนิ้วมือ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้มีความรู้เรื่องโรคเบาหวานเกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังควรขอให้แพทย์หรือผู้ให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานสอนวิธีใช้การเครื่องมือที่ถูกต้องด้วย

ขั้นตอนการตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

คำแนะนำสำหรับการตรวจแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยตามเครื่องวัดน้ำตาลแต่ละรุ่น เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้เครื่องตรวจอย่างระมัดระวัง โดยควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ล้างมือด้วยน้ำสบู่อุ่น เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
  • ใส่เข็มสะอาด (ที่เจาะเลือด) เข้าไปในเครื่องมือเจาะเลือด เครื่องมือเจาะเลือดมีลักษณะเป็นด้ามจับขนาดเท่าปากกาซึ่งเป็นตัวยึดเข็มเจาะ ช่วยวางตำแหน่ง และควบคุมความลึกของเข็มที่เจาะเข้าไปใต้ผิวหนัง
  • นำแถบทดสอบออกจากขวดบรรจุและปิดฝาทันทีหลังจากนำแถบตรวจออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นส่งผลต่อแถบตรวจที่เหลือ ในบางรุ่น แถบตรวจจะถูกเก็บรักษาไว้ภายในเครื่องตรวจ
  • เตรียมเครื่องมือตรวจน้ำตาลในเลือดโดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในเครื่องตรวจ
  • ใช้เครื่องมือเจาะเลือดเจาะเข้าบริเวณด้านข้างของปลายนิ้ว โดยห้ามเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเนื่องจากการเจาะอาจมีอาการเจ็บปวดมากกว่าและอาจได้เลือดไม่เพียงพอที่จะตรวจได้อย่างถูกต้อง เครื่องมือตรวจน้ำตาลในเลือดรุ่นใหม่บางชนิดใช้เครื่องมือเจาะเลือดที่สามารถนำตัวอย่างเลือดจากบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากนิ้วมือได้ เช่น ฝ่ามือหรือแขนท่อนปลาย
  • หยดเลือดลงบนแถบทดสอบในบริเวณที่เหมาะสม
  • ใช้สำลีก้อนสะอาดแล้วกดลงบนบริเวณที่กดนิ้ว (หรือบริเวณอื่น) เพื่อห้ามเลือด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในเครื่องมือตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ได้ผลการตรวจ เครื่องมือตรวจบางชนิดใช้เวลาเพียง 2-3 วินาทีเพื่อแสดงผลการตรวจ

หลังการตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

ควรจดผลการตรวจและเวลาตรวจเลือดไว้ แต่เครื่องตรวจส่วนใหญ่จะบันทึกผลตรวจไว้ได้หลายวันหรือหลายสัปดาห์ จึงสามารถย้อนกลับไปค้นหาได้เสมอ ผู้ป่วยหรือแพทย์จะใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้นี้ เพื่อดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ภายในช่วงค่าที่แนะนำสม่ำเสมอหรือไม่ โดยแพทย์ยังอาจใช้ผลตรวจนี้เพื่อดูว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ยา (อินซูลินหรือยาเม็ด) หรือไม่

หลังการใช้งานเครื่องตรวจควรถอดเข็มเจาะเลือดอย่างปลอดภัย และห้ามทิ้งในถังขยะทั่วไป เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้โดยไม่ตั้งใจ โดยควรใส่ที่เจาะเลือดที่ใช้แล้วไว้ในภาชนะพลาสติก เช่น ขวดผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ใช้หมดแล้ว และให้ปิดฝาอย่างแน่นหนาเมื่อบรรจุเต็มถึงระดับประมาณสามในสี่ส่วนของภาชนะ และติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำจัดขยะชนิดพิเศษเพื่อการกำจัดอย่างเหมาะสม ซึ่งบางหน่วยงานมีข้อปฏิบัติเฉพาะสำหรับการกำจัดขยะทางการแพทย์ ในบางครั้ง คลินิกหรือโรงพยาบาลอาจรับกำจัดขยะดังกล่าวด้วย

ผลการตรวจ

การอ่านผลการตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

ค่าน้ำตาลข้างล่างนี้เป็นพื้นฐานค่าน้ำในเลือดที่เหมาะสมตลอดทั้งวันซึ่งอาจแตกต่างจากของผู้อื่นและจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

  • 70 mg/dL (3.9 mmol/L) ถึง 130 mg/dL (7.2 mmol/L) ก่อนรับประทานอาหาร
  • น้อยกว่า 180 mg/dL (10 mmol/L) 1–2 ชั่วโมงหลังจากเริ่มรับประทานอาหาร

สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

  • 95 mg/dL (5.3 mmol/L) หรือน้อยกว่า ก่อนอาหารเช้า
  • 140 mg/dL (7.8 mmol/L) หรือน้อยกว่า เป็นเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากเริ่มรับประทานอาหาร หรือ 120 mg/dL (6.7 mmol/L) หรือน้อยกว่า ในเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากเริ่มรับประทานอาหาร

โรคบางโรคอาจเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือด แพทย์จะอธิบายเกี่ยวกับผลการตรวจสำคัญ ๆ ที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับอาการต่าง ๆ และสุขภาพโดยรวม

ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล และควรวางแผนสำหรับวิธีการจัดหากพบค่าน้ำตาลในเลือดสูงเกินหรือต่ำเกินไป หรือควรติดต่อแพทย์เมื่อใด

จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาล ค่าปกติสำหรับการตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้านอาจมีความหลากหลาย โปรดปรึกษาแพทย์หากมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับผลการทดสอบ

หากมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจคำแนะนำของแพทย์ได้ดีขึ้น

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ferri, Fred. Ferri’s Netter Patient Advisor. Philadelphia, PA: Saunders / Elsevier, 2012. Print edition. Page 489.

Porter, R. S., Kaplan, J. L., Homeier, B. P., & Albert, R. K. (2009). The Merck manual home health handbook. Whitehouse Station, NJ, Merck Research Laboratories. Print edition. Page 1255.

Risk factors. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/basics/risk-factors/con-20013732. Accessed July 14, 2016.

Test and diagnosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/basics/tests-diagnosis/con-20013732. Accessed July 14, 2016.

Who is at risk for HIV? https://www.aids.gov/hiv-aids-basics/prevention/reduce-your-risk/who-is-at-risk-for-hiv/. Accessed July 14, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธี ลดน้ำตาลในเลือด ทำได้ด้วยตนเองเพื่อลดเสี่ยงเบาหวาน

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยอาหารที่อาจช่วยสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา