backup og meta

เลือดเป็นพิษ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด อันตราย! เป็นแล้วโอกาสตายสูง

เลือดเป็นพิษ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด อันตราย! เป็นแล้วโอกาสตายสูง

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เลือดเป็นพิษ หรือภาวะพิษจากการติดเชื้อ ในข่าวการเสียชีวิตของคนดังกันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ว่าภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเป็นแล้วอันตรายแค่ไหน Hello คุณหมอ บอกเลยว่าภาวะนี้อันตรายมาก หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วย แต่อย่าเพิ่งเป็นกังวลไป เพราะคุณเองก็สามารถสังเกตอาการ และป้องกันภาวะนี้ด้วยตัวเองได้

เลือดเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร

ภาวะพิษจากการติดเชื้อ หรือ เลือดเป็นพิษ ที่มักเรียกว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองที่รุนแรงต่อการติดเชื้อ หรือสารพิษของเชื้อโรค ทำให้เกิดจากอักเสบทั่วร่างกาย ความจริงแล้วคำว่า ภาวะพิษจากการติดเชื้อ หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) กับคำว่า ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) นั้นเป็นคนละคำกัน แต่เนื่องจากเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน จึงมักใช้ในความหมายเดียวกัน

โดยปกติแล้ว เมื่อมีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองด้วยการปล่อยสารเคมีบางชนิดเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ แต่ในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันก็ปล่อยสารเคมีออกมามากเกิน หรือมีการตอบสนองที่ผิดปกติไป จนส่งผลให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เกิดลิ่มเลือดและหลอดเลือดอุดตัน จนระบบไหลเวียนเลือดและความดันเลือดหยุดชะงัก ออกซิเจนและสารอาหารจึงไม่ถูกลำเลียงไปส่งยังอวัยวะต่างๆ จนอวัยวะเสียหาย และหากไม่รีบรักษา อาจทำให้เกิดมีภาวะช็อกจากพิษเหตุติดเชื้อ (Septic Shock) จนถึงแก่ชีวิตได้

เลือดเป็นพิษ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

การติดเชื้อทุกชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดเลือดเป็นพิษได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบ มักเกิดจากการติดเชื้อดังต่อไปนี้

  • โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (Pneumonia)
  • การติดเชื้อในช่องท้อง หรือระบบทางเดินอาหาร
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผิวหนังติดเชื้อ

ในปัจจุบันพบว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากเลือดเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าภาวะเลือดเป็นพิษที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคใด หรือทำไมจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตถึงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จากข้อมูลของสถาบัน National Institute of General Medical Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้
  • จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงมีมากขึ้น
  • มีแบคทีเรียดื้อยา หรือแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistance) เพิ่มขึ้น

กลุ่มเสี่ยงที่เลือดเป็นพิษแล้วยิ่งอันตราย

ภาวะเลือดเป็นพิษนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากเป็นกลุ่มคนเหล่านี้ ก็จะยิ่งเสี่ยงได้รับอันตรายร้ายแรงจากเลือดเป็นพิษ

  • ผู้สูงอายุ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคปอด โรคมะเร็ง
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่การหายใจล้มเหลว
  • ผู้ที่เป็นโรคพิษสุรา (Alcoholism)

เลือดเป็นพิษ ติดต่อกันได้ไหม

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ภาวะเลือดเป็นพิษสามารถติดต่อกันได้ไหม คำตอบก็คือ ภาวะโลหิตเป็นพิษไม่ใช่ “โรคติดต่อ” จึงแพร่กระจายสู่ผู้อื่นไม่ได้ ภาวะนี้จะแพร่กระจายจากอวัยวะที่ติดเชื้อจนเลือดเป็นพิษไปสู่อวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกายของผู้ป่วยผ่านกระแสเลือดเท่านั้น แต่ถึงแม้ภาวะเลือดเป็นพิษจะติดต่อกันไม่ได้ แต่เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อนั้นก็อาจแพร่กระจายสู่ผู้อื่น จนทำให้คนๆ นั้นติดเชื้อและนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นพิษได้เช่นกัน

สัญญาณและอาการของภาวะเลือดเป็นพิษ

  • เป็นไข้ (อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส)
  • หนาวสั่น
  • มีผื่น หรือผื่นผิวหนัง
  • มีอาการสับสน
  • อ่อนเพลีย
  • มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่
  • ตัวบวม
  • อัตราการเต้นของหัวใจ หรือชีพจรสูงกว่า 90 ครั้งต่อนาที
  • อัตราการหายใจสูงกว่า 20 ครั้งต่อนาที
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีสัญญาณว่าการไหลเวียนเลือดลดลงในอย่างน้อยหนึ่งอวัยวะขึ้นไป
  • ปัสสาวะน้อยลง

ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และบางอาการอาจแย่ลงอย่างรวดเร็วด้วย

อาการแทรกซ้อนจากเลือดเป็นพิษ

ผู้ป่วยเลือดเป็นพิษส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ โดยไม่เกิดอาการแทรกซ้อนใดๆ แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น

  • ไตวาย
  • เกิดภาวะเนื้อเน่าตาย (Gangrene) ที่บริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า จนต้องตัดอวัยวะดังกล่าวออก
  • ปอดเสียหายถาวรจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวฉับพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome)
  • สมองเสียหายถาวร จนทำให้มีปัญหาด้านความจำ และอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
  • ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หรืออ่อนแอลง จนเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายในอนาคต
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ จนอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

ไม่อยากให้เลือดเป็นพิษ ป้องกันยังไงดี

หากคุณไม่อยากประสบปัญหาเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อ สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือ ป้องกันการติดเชื้อให้ได้อย่างดีที่สุด โดยคุณสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • เข้ารับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วน เช่น วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดทุกปี เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • รักษาความสะอาด ดูแลสุขอนามัยให้ดี เช่น อาบน้ำทุกวัน หากเป็นแผลต้องรักษาให้หาย ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังทำอาหาร กินอาหาร หรือเข้าห้องน้ำ
  • หากมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที เพราะยิ่งคุณรักษาการติดเชื้อให้หายได้เร็วเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sepsis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sepsis/symptoms-causes/syc-20351214. Accessed March 19, 2020

Sepsis. https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions/s/sepsis.html. Accessed March 19, 2020

What is Sepsis?. https://www.cdc.gov/sepsis/what-is-sepsis.html#:~:text=It%20is%20a%20life-threatening,%2C%20skin%2C%20or%20gastrointestinal%20tract.. Accessed September 7, 2023.

Sepsis. https://www.nhs.uk/conditions/sepsis/. Accessed September 7, 2023.

Sepsis. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/sepsis. Accessed September 7, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/09/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดเชื้อฉวยโอกาส โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอชไอวีที่พบได้บ่อย

ระบบภูมิคุ้มกัน กับ การติดเชื้อไวรัสโคโรนา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา