backup og meta

ปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplantation) หรือ ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

ปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplantation) หรือ ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

การ ปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplantation) หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Transplantation) เป็นวิธีรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด และเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

ข้อมูลพื้นฐาน

การ ปลูกถ่ายไขกระดูก คืออะไร

การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplantation) หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Transplantation) คือ หัตถการในการแทนที่ไขกระดูกที่เสียหายหรือถูกทำลายโดยโรค การติดเชื้อ หรือการทำเคมีบำบัด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ซึ่งเป็นเซลล์ตัวอ่อนของเลือดที่อาศัยอยู่ในไขกระดูก และจะเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ที่ไหลวนอยู่ในร่างกาย รวมถึงมีส่วนในการสร้างไขกระดูกใหม่ด้วย

การปลูกถ่ายไขกระดูกมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

การปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้กระดูกของตนเอง (Autologous Bone Marrow Transplantation)

โดยต้องใช้ไขกระดูกของผู้ป่วยที่เก็บไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ารับเคมีบำบัดหรือฉายรังสี โดยผู้เชี่ยวชาญจะปลูกถ่ายไขกระดูกที่เก็บไว้กลับคืนเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาดังกล่าวแล้ว แต่วิธีนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีไขกระดูกที่สมบูรณ์ดีเท่านั้น

การปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้ไขกระดูกของผู้บริจาค (Allogeneic Bone Marrow Transplantation)

โดยผู้บริจาคจะต้องมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ตรงกับผู้ป่วย วิธีนี้มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า เช่น ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย และคุณอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายไม่ทำลายเซลล์ใหม่ แต่ยาก็อาจทำให้คุณติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

ความจำเป็นในการ ปลูกถ่ายไขกระดูก

ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูกเมื่อไขกระดูกในร่างกายไม่แข็งแรง และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) ทำให้ไขกระดูกหยุดสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่
  • โรคมะเร็งบางชนิดที่ส่งผลต่อไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดโลหิตขาวชนิดมัยอีโลมา (Multiple Myeloma)
  • ไขกระดูกถูกทำลายระหว่างการทำเคมีบำบัด
  • ภาวะนิวโทรฟิลในกระแสโลหิตต่ำที่เป็นแต่กำเนิด (Congenital Neutropenia) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่ายกว่าปกติ
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease หรือ SCD)
  • โรคธาลัสซีเมีย

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงของการ ปลูกถ่ายไขกระดูก

การปลูกถ่ายไขกระดูกจัดเป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่อาจทำให้เกิดภาวะสุขภาพและอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

ภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อยหลัง ปลูกถ่ายไขกระดูก

  • ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
  • เจ็บปวด
  • หายใจถี่
  • หนาวสั่น
  • มีไข้

อาการแทรกซ้อนจากการ ปลูกถ่ายไขกระดูก

  • ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย (Graft-versus-host disease หรือ GVHD)
  • ผู้ป่วยต่อต้านหรือไม่ยอมรับเซลล์ผู้บริจาค (Graft rejection หรือ Graft failure)
  • เลือดออกในปอด สมอง หรืออวัยวะอื่น ๆ
  • ต้อกระจก
  • อวัยวะสำคัญถูกทำลาย
  • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
  • โลหิตจาง
  • โรคมะเร็งชนิดใหม่
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • การเสียชีวิต
  • การติดเชื้อ
  • เยื่อบุช่องปากอักเสบ (Mucositis)

ความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อายุ
  • สภาวะสุขภาพ
  • โรคที่คุณเป็นอยู่
  • ประเภทของการปลูกถ่ายไขกระดูก

สิ่งที่สำคัญคือ ก่อนเริ่มกระบวนการนี้ คุณควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนให้ดี หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ขั้นตอนการผ่าตัด

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก

คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยต่าง ๆ เพื่อหาว่าคุณต้องการไขกระดูกชนิดใด และอาจต้องเข้ารับการบำบัดด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ไขกระดูกทั้งหมด ก่อนรับไขกระดูกใหม่

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์

ขั้นตอนการปลูกถ่ายไขกระดูก

ขั้นตอนในการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้นคล้ายกับการให้เลือด (Blood transfusion) หากเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้ไขกระดูกของผู้บริจาค แพทย์จะต้องเก็บสเต็มเซลล์จากโพรงไขกระดูกของผู้บริจาคก่อนดำเนินการปลูกถ่ายไขกระดูก 1-2 วัน แต่หากเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้กระดูกของตนเอง แพทย์จะใช้ไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ของคุณที่เก็บรักษาเอาไว้ในธนาคารสเต็มเซลล์

สำหรับกระบวนการเก็บสเต็มเซลล์ วิสัญญีแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกกับคุณ เมื่อยาออกฤทธิ์แล้ว แพทย์จะเก็บสเต็มเซลล์จากโพรงไขกระดูกโดยใช้เข็มและกระบอกฉีดเจาะเก็บสเต็มเซลล์จากบริเวณสะโพกด้านหลัง

การพักฟื้น

หลังการปลูกถ่ายไขกระดูก

ไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่ายมาจะเดินทางเข้าสู่ไขกระดูกของคุณผ่านทางกระแสเลือด จากนั้นสเต็มเซลล์จะแบ่งตัวแบบทวีคูณ และเจริญเติบโตเป็นเซลล์เม็ดเลือดใหม่ที่สุขภาพสมบูรณ์ดี โดยปกติแล้ว จะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าปริมาณเม็ดเลือดในร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติ และสำหรับผู้ป่วยบางราย ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น

หลังจากปลูกถ่ายไขกระดูก คุณจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และเข้ารับการตรวจต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบภาวะสุขภาพของคุณ และหากคุณมีอาการแทรกซ้อน เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ก็อาจต้องใช้ยาบรรเทาอาการด้วย

หากคุณเคยติดเชื้อหรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็อาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานขึ้น โดยระยะเวลาในการพักฟื้นนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยบางรายอาจต้องพักฟื้นตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึงหลายเดือน

ความเสี่ยงหลังปลูกถ่ายไขกระดูก

หลังการปลูกถ่ายไขกระดูก คุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล
  • ท้องเสีย
  • ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย
  • การติดเชื้อ
  • เจ็บในช่องปาก
  • ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน
  • อาเจียน
  • เหนื่อยล้า

คุณสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bone Marrow Transplant. https://www.healthline.com/health/bone-marrow-transplant. Accessed August 5, 2020

Bone marrow transplant. https://medlineplus.gov/ency/article/003009.htm. Accessed August 5, 2020

Bone marrow transplant. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/bone-marrow-transplant/about/pac-20384854. Accessed August 5, 2020

What Happens During a Bone Marrow Transplant?. https://www.webmd.com/cancer/lymphoma/marrow-transplant-18/marrow-transplant-surgery-explained. Accessed August 5, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/08/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีเพิ่มเกล็ดเลือด อย่างเป็นธรรมชาติ ป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ

พลาสมาในเลือด สามารถนำมารักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้จริงหรือ?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา