ข้อมูลพื้นฐาน
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ คืออะไร
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ (Revision Total Hip Replacement) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำข้อสะโพกเทียมเก่าออกไป และใส่ข้อสะโพกเทียมใหม่เข้าไปแทนที่ เนื่องจากข้อสะโพกเทียมที่เปลี่ยนไปในตอนแรกเกิดปัญหา ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- มีความเสียหายเกิดขึ้นที่ข้อต่อเทียม
- สะโพกติดเชื้อ
- การวางผิดตำแหน่ง
- กระดูกรอบข้อสะโพกเทียมแตกหัก
- ข้อสะโพกเทียมหลุดบ่อยๆ
ความจำเป็นในการ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ
เพื่อทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวด และช่วยให้สามารถเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น
ความเสี่ยง
ความเสี่ยงของการ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ
ข้อสะโพกเทียมอาจเสื่อมได้ตามกาลเวลา และอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำอีก
ทางเลือกในการรักษานอกเหนือจากการผ่าตัด
- หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้รอดูอาการซักระยะก่อน
- หากคุณติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics)
- หากสะโพกเคลื่อนตัวจากข้อต่อ คุณสามารถใส่สายรัดได้
- หากมีอาการกระดูกแตก อาจรักษาได้ด้วยการดึง
คุณควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดดังกล่าว หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ขั้นตอนการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ
คุณต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ อาการแพ้ หรือภาวะสุขภาพใดๆ และก่อนเข้ารับการผ่าตัด คุณจะเข้าพบวิสัญญีแพทย์และวางแผนร่วมกันเรื่องการใช้ยาระงับความรู้สึก เป็นสิ่งสำคัญที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับเวลาที่ควรหยุดรับประทานอาหารและดื่มน้ำ ก่อนการผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ
การผ่าตัดจะทำโดยใช้ยาสลบ แพทย์จะกรีดที่ด้านข้างสะโพก ก่อนจะนำข้อสะโพกเทียมและซีเมนต์เชื่อมที่มีอยู่เดิมออก จากนั้นจึงใส่ข้อสะโพกใหม่เข้าไปแทน ข้อสะโพกใหม่จะถูกติดเข้ากับกระดูก โดยใช้อะครีลิกซีเมนต์ หรือสารเคลือบชนิดพิเศษ
รายละเอียดในการผ่าตัดอาจแตกต่างไปในแต่ละกรณี และอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น หากกระดูกบาง กระดูกแตก หรือติดเชื้อ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
การพักฟื้น
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ
โดยปกติแล้ว คุณสามารถกลับบ้านได้หลังจากเข้ารับการผ่าตัด 5-10 วัน และอาจจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าหรือไม้ช่วยเดินเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้เร็วขึ้น แต่ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำมักได้ผลดี และผู้เข้ารับการผ่าตัดส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดเกี่ยวกับการออกกำลังกายอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อสะโพกแข็งแรงขึ้น
หากคุณมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์
ความเสี่ยงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย แต่การผ่าตัดทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง จึงควรศึกษาข้อมูลและขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนการผ่าตัด อาการแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึง อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากยาสลบที่ใช้ เช่น ระบบหายใจหรือหัวใจทำงานผิดปกติ
นอกจากนี้ อาการแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อ ความเสียหายที่เส้นประสาทและหลอดเลือด กระดูกแตกหัก อาการอ่อนเพลีย ความตึงแน่นหรือความไม่คงที่ของข้อต่อ หรือคุณอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง
อาการแทรกซ้อนเฉพาะของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทดแทน ได้แก่
- กระดูกต้นขาแยก
- มีความเสียหายที่เส้นประสาท หรือหลอดเลือดโดยรอบสะโพก
- การติดเชื้อในสะโพก
- สะโพกหลวม
- มีกระดูกงอกในกล้ามเนื้อโดยรอบสะโพก
- สะโพกผิดตำแหน่ง
- ความยาวขาไม่เท่ากัน
- เสียชีวิต
คุณสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมในการผ่าตัด เช่น งดอาหาร หยุดยา
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]