backup og meta

ไซยาไนด์ คือ อะไร อันตรายแค่ไหน มีผลต่อร่างกายอย่างไร

ไซยาไนด์ คือ อะไร อันตรายแค่ไหน มีผลต่อร่างกายอย่างไร

ไซยาไนด์ คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษสูง ออกฤทธิ์เร็ว และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการหายใจเอาก๊าซไซยาไนด์เข้าร่างกาย การกินผลึกไซยาไนด์หรือของเหลวที่มีไซยาไนด์เป็นส่วนผสม การได้รับสารไซยาไนด์แม้ในปริมาณเล็กน้อยก็เป็นอันตรายร้ายแรงโดยก่อให้เกิดอาการผิดปกติที่สังเกตได้ เช่น อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน และมักทำให้เสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น

[embed-health-tool-bmi]

ไซยาไนด์ คือ อะไร

ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารพิษที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมร่วมกับสารเคมีอื่น ๆ เพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า พลาสติก รวมทั้งใช้เป็นยาฆ่าแมลง มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ขม นอกจากนั้นยังพบอยู่ตามในธรรมชาติในปริมาณเล็กน้อย เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา สาหร่ายบางชนิด พืชอย่างผักโขม หน่อไม้ อัลมอนด์ ถั่วลิมา เม็ดของลูกพีชและแอปเปิล มันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังพบได้ในควันบุหรี่ ควันท่อไอเสียรถยนต์ รวมทั้งจากการเผาไหม้สารพลาสติกโพลียูรีเทน (Polyurethane) และหนังเทียม

ไซยาไนด์เป็นสารที่มีรูปแบบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโซเดียมไซยาไนด์ที่เป็นก้อนผลึกใส แท่ง หรือผงที่ไม่มีสี (Sodium cyanide หรือ NaCN) สารละลายโพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide) หรือในรูปแบบไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ที่เมื่อเป็นของเหลวจะมีสีฟ้าอ่อนหรือไม่มีสี และเป็นก๊าซไม่มีสีเมื่ออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ

ไซยาไนด์ มีผลต่อร่างกายอย่างไร

ไซยาไนด์ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในระดับเซลล์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้ออกซิเจนเพื่อสร้างพลังงานได้ กระทบต่อการลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญอย่างสมองและหัวใจที่ต้องใช้พลังงานและออกซิเจนสูงในการทำงาน ผู้ที่ได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย อาจมีอาการผิดปกติเบื้องต้นที่สังเกตได้ ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก
  • แน่นหน้าอก
  • สับสน มึนงง
  • ปวดตา
  • น้ำตาไหล
  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงหรือเร็วขึ้น
  • หายใจช้าลงหรือเร็วขึ้น
  • วิตกกังวล ร้อนรน
  • อ่อนแรง

การได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติภายในเวลารวดเร็วและทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

  • โคม่า
  • ชัก
  • ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
  • ปอดเสียหาย
  • หมดสติ
  • เสียชีวิต

ไซยาไนด์ เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไรบ้าง

ไซยาไนด์อาจเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ทางอากาศ ไซยาไนด์ในรูปแบบก๊าซอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสัมผัสทางผิวหนัง ดวงตา หรือสูดดมแล้วหายใจรับก๊าซเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
  • ทางน้ำ ไซยาไนด์อาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่อุปโภคหรือบริโภค ส่งผลให้สารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสหรือบริโภคโดยตรง นอกจากนี้ ไซยาไนด์ที่เป็นของแข็งเช่น ผลึก แท่ง ผง เมื่อนำลงไปผสมในน้ำจะผลิตก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวสูดดมสารพิษเข้าไปได้เช่นกัน โดยจะเป็นอันตรายร้ายแรงมากขึ้นไปอีกเมื่อสูดดมก๊าซในพื้นที่ปิดและไม่มีอากาศถ่ายเท
  • ทางปาก การรับประทาน ดื่ม หรือสัมผัสอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนไซยาไนด์อาจทำให้ได้รับสารพิษได้

วิธีรักษาเมื่อได้รับพิษ ไซยาไนด์ คือ อะไร

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษ ไซยาไนด์ ขณะนำส่งโรงพยาบาลหรือรอการช่วยเหลือ อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำให้อาเจียนหรือล้วงคอให้อ้วกเพราะจะทำให้สารพิษดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
  • หากสารพิษสัมผัสกับเสื้อผ้าให้เปลื้องผ้าและอาบน้ำทันทีหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากจำเป็นต้องดึงเสื้อออกทางศีรษะ ให้หลับตาและปาก พร้อมกับกลั้นหายใจ เพื่อไม่ให้ไซยาไนด์เข้าตา จมูก หรือปาก แล้วแยกเสื้อผ้ามาใส่ไว้ในถุงพลาสติก
  • หากสารพิษสัมผัสกับผิวหนังให้นำผ้าสะอาดซับผิวบริเวณที่ถูกสารพิษประมาณ 10 วินาที แล้วรีบล้างออกทันทีด้วยน้ำเปล่าและสบู่ประมาณ 10 วินาที
  • หากรู้สึกว่าแสบตาหรือไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ ให้ล้างตาเป็นเวลา 10-15 นาทีด้วยน้ำอุ่น ห้ามใช้ยาหยอดตา (หากใส่คอนแทกเลนส์ให้นำออกมาโดยเร็วแล้วล้างตา)
  • หากอยู่ในพื้นที่ที่มีสารพิษ ควรรีบออกจากพื้นที่นั้นให้เร็วที่สุด การอยู่กับที่หรือก้มตัวลงต่ำไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงการรับก๊าซเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากก๊าซไซยาไนด์บางชนิดจะจมลงสู่ที่ต่ำในขณะที่บางชนิดจะลอยตัวสูงขึ้น

เมื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณว่าร่างกายได้รับพิษจากไซยาไนด์ ควรรีบพาตัวผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอรักษาด้วยการให้ผงถ่านกัมมันต์ หรือ ถ่านชาร์โคล (Activated charcoal) ที่ช่วยลดการดูดซึมสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากร่างกายได้รับโดยเร็วที่สุดหลังจากได้รับสารพิษเข้าร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cyanide. https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/gas/Cyanide . Accessed May 22, 2023

Cyanide: Exposure, Decontamination, Treatment. https://www.cdc.gov/chemicalemergencies/factsheets/cyanide.html#:~:text=Cyanide%20is%20a%20rapidly%20acting,or%20potassium%20cyanide%20(KCN). Accessed May 22, 2023

The Facts About Cyanides. https://www.health.ny.gov/environmental/emergency/chemical_terrorism/cyanide_general.htm. Accessed May 22, 2023

Hydrogen cyanide and cyanides. https://www.who.int/publications/i/item/9241530618. Accessed May 22, 2023

hydrogen cyanide. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/hydrogen-cyanide. Accessed May 22, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้ไว้ใช้ช่วยชีวิตได้ การปฐมพยาบาลผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้น

พิษไซยาไนด์ (Cyanide Poisoning)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา