backup og meta

ทำงานเป็นกะ กับสารพันปัญหาสุขภาพที่ต้องพร้อมรับมือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

    ทำงานเป็นกะ กับสารพันปัญหาสุขภาพที่ต้องพร้อมรับมือ

    บางอาชีพ เช่น หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่คอลเซนเตอร์ ผู้รักษาความปลอดภัย พนักงานร้านสะดวกซื้อ พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องทำงานเป็นช่วงเวลา หรือ ทำงานเป็นกะ ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือเวลาทำงานที่แน่นอน ซึ่งทำให้ร่างกายไม่ได้ทำงานตามนาฬิกาชีวิต ที่เป็นวงจรเวลาตามธรรมชาติ จึงสามารถนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย ที่ควรต้องพร้อมรับมือ!

    ปัญหาสุขภาพระยะสั้น

    ไม่ใช่แค่ผู้ที่ทำงานเป็นกะ แต่ผู้ที่ต้องทำงานดึกติดต่อกันหลายคน ผู้ที่ต้องเดินทางผ่านหลายโซนเวลา เป็นต้น ก็สามารถประสบกับปัญหาสุขภาพระยะสั้นได้ ดังนี้

    • ร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
    • ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก กรดไหลย้อน
    • เสี่ยงได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ
    • นอนไม่หลับ
    • บั่นทอนคุณภาพชีวิต
    • รู้สึกไม่สดใส หรือไม่สบายตลอดเวลา

    ปัญหาสุขภาพระยะยาว

    หากต้องทำงานเป็นกะ หรือทำงานในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ดังนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด

    เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ทำงานกะดึกนานเกิน 15 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 5% สำหรับการทำงานในกะดึกครบทุก 5 ปี

    • โรคเบาหวาน

    การศึกษาวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ที่ทำงานควบสองกะ หรือทำงานวันละ 16 ชั่วโมงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าผู้ที่ทำงานในตอนกลางวันถึง 50%

    การนอนไม่เป็นเวลา มีปัญหาการกิน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย สามารถส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน และนำไปสู่โรคอ้วนได้ เนื่องจากร่างกายคนเรามีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่เรียกว่า เลปติน (Leptin) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมความหิวและส่งสัญญาณบอกร่างกายว่าควรหยุดกินเมื่อใด การทำงานเป็นกะจะทำให้ระดับฮอร์โมนเลปตินในร่างกายต่ำลง ผู้ทำงานเป็นกะจึงจะหิวบ่อยและกินมากกว่าผู้ที่ทำงานเวลากลางวัน

    โรคซึมเศร้าและโรคทางอารมณ์อื่นๆ

    ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผู้ที่ทำงานเป็นกะมีแนวโน้มเกิดโรคซึมเศร้าและโรคทางอารมณ์อื่นๆ มากกว่าผู้ที่ทำงานกลางวันปกติ นั่นเพราะผู้ที่ทำงานเป็นกะมักมีเวลานอนหลับพักผ่อนและทำงานแตกต่างจากคนอื่น ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาพบปะกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก จึงรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) ส่งผลกระทบต่อจิตใจ อีกทั้งการทำงานเป็นกะยังส่งผลกระทบต่อระดับสารเคมีในสมอง จากการศึกษาในอาสาสมัครกลุ่มที่ทำงานเวลากลางวันปกติกับกลุ่มที่ทำงานกะกลางคืน เมื่อปี 2007 พบว่า อาสาสมัครกลุ่มที่ทำงานกะกลางคืนมีระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาทางอารมณ์

  • ปัญหาในระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง

  • จากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นในเวลากว่า 50 ปีพบว่า นอกจากผู้ที่ทำงานเป็นกะจะมีปัญหาในระบบทางเดินอาหารทั่วไป เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูกแล้ว ยังมักเกิดแผลเปื่อยเพปติก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer) โรคกรดไหลย้อน รวมไปถึงโรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome) ได้อีกด้วย

    • ปัญหาการมีลูกและการตั้งครรภ์

    การทำงานเป็นกะสามารถส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงได้ การศึกษาในอาสาสมัครที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินพบว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ทำงานเป็นกะประจำมีปัญหาแท้งลูกมากกว่าพนักงานต้อนรับที่ทำงานในช่วงเวลาปกติถึง 2 เท่า นอกจากนี้การทำงานเป็นกะยังเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด เด็กออกมาน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้มีลูกยาก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ประจำเดือนมาไม่ปกติ และปวดประจำเดือนมากได้อีกด้วย

    • โรคมะเร็ง

    การศึกษาวิจัยหลายชิ้นทั้งในมนุษย์และสัตว์พบว่า การทำงานเป็นกะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยมีการวิจัยที่ชี้ว่า การทำงานเป็นกะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 50% รวมไปถึงอาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้และมะเร็งต่อมลูกหมากได้อีกด้วย ทั้งนี้ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า ยิ่งทำงานเป็นกะติดต่อกันนานหลายปี ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

    ทำงานเป็นกะ หากเลี่ยงไม่ได้ ควรรับมืออย่างไร

    การทำงานบางสาขาอาชีพต้องทำงานเป็นช่วงเวลา หรือทำงานเป็นกะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมการทำงานเป็นกะได้ ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

    • กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ
    • ลดหรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจรบกวนการนอน และความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของร่างกาย
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เช่น ปิดไฟในห้องให้มืดสนิท ใช้ผ้าปิดตาหรือจุกอุดหูกันเสียงรบกวน
    • ในวันหยุด ควรออกไปรับแสงแดดอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีเพียงพอ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
    • ปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ช่วยแนะนำวิธีไม่ให้ง่วงในตอนทำงาน และนอนหลับได้ในตอนกลางคืน และตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา