backup og meta

รับมือกับ เชื้อดื้อยา ก่อนที่จะสายเกินไป

รับมือกับ เชื้อดื้อยา ก่อนที่จะสายเกินไป

องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ระหว่างวันที่  12-18 พฤศจิกายน 2561 เป็นช่วงสัปดาห์ Antibiotic Awareness Week หรือ “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียโลก”

เพื่อให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาของ เชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก นพ.ณัฐพงศ์ เดชธิดา มีมุมมองจากประสบการณ์และข้อมูลในเรื่องนี้มาฝาก

สถานการณ์ เชื้อดื้อยา ในประเทศไทย

‘เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ’ คือ การที่เชื้อแบคทีเรียที่เคยไวต่อยาปฏิชีวนะมาก่อน เกิดการกลายพันธุ์เป็น เชื้อดื้อยา โดยเมื่อเชื้อดังกล่าวสัมผัสกับยาปฏิชีวนะแล้ว ยาไม่สามารถยับยั้งหรือทำลายเชื้อแบคทีเรียได้เหมือนเดิม ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ทำได้ยาก ต้องใช้ยาร่วมกันหลายขนาน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง เกิดพิษ และผลกระทบข้างเคียงมาก

สถานการณ์การเกิดเชื้อดื้อยาในประเทศไทย มีการเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ถึงแม้จะมีวิวัฒนาการของการพัฒนายา และการระงับการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่จำเป็น รวมถึงประชาชนก็ตระหนักถึงการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่จำเป็นมากขึ้นแล้วก็ตาม

การใช้ยาปฏิชีวนะในไข้หวัดธรรมดา ลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส และแผลผิวหนังติดเชื้อระดับที่หนึ่งนั้น เป็นเรื่องไม่จำเป็น จากประสบการณ์ของผู้เขียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนไข้ตระหนักมากขึ้นถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และเลือกไม่ซื้อยาปฏิชีวนะที่ร้านขายยาก่อนพบหมอ พฤติกรรมการตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและไม่จำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคดังกล่าว จึงมีแนวโน้มดีขึ้น

เชื้อดื้อยากลุ่มหลักในไทย

หากแต่สถานการณ์เรื่องเชื้อดื้อยาในโรคที่รุนแรง ก็ยังไม่ลดลงหรือหายไปแต่อย่างใด ในบทความนี้จะกล่าวถึงเชื้อดื้อยา 3 กลุ่มหลัก ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นภาวะวิกฤติของการดื้อยาในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1.โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae

พบว่าเชื้อดังกล่าวดื้อต่อยา Oxacillin, Levofloxacin, อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และคลินดามัยซิน (Clindamycin) ร้อยละ 30-37 ทั่วประเทศไทย หมายความว่า หากคุณติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ ตั้งแต่ไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ รวมถึงปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียแล้วก็ตาม การรักษา 1 ใน 3 จะล้มเหลวด้วยเพราะอาจเป็นเชื้อดื้อยา

2.โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจากเชื้อแบคทีเรีย E.coli

หากคุณเป็นโรคดังกล่าว จากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ยาฆ่าเชื้อ แอมพิซิลลิน (Ampicillin) อาจจะล้มเหลวในการรักษาได้ร้อยละ 84.4 แม้ว่าการได้ยาฆ่าเชื้อ Gentamycin ในการรักษาอาจทำให้การรักษาล้มเหลวได้ร้อยละ 32.7

และที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ยาที่ชื่อ ไซโปฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ที่สามารถซื้อรับประทานได้ในร้านขายยาเท่านั้น เกิดสถานการณ์ดื้อยาในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยมีโอกาสที่ทำให้การรักษาด้วยยา Ciprofloxacin ล้มเหลวได้ถึงร้อยละ 48.1 คือเกือบครึ่งต่อครึ่งนั่นเอง

3.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอุจจาระจากเชื้อ Salmonella

เกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาพื้นฐาน เพนิซิลลิน (Penicillin) ทั้งแบบกินและฉีด ที่น่าเป็นห่วงมากๆคือ พบว่ามีการดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่ม Ceftriaxone ถึงร้อยละ 15

คำแนะนำเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

ในวงการแพทย์ยังมีเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องต่อสู้ เพื่อไม่ให้คนไข้เข้าสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตอีกมากมาย

โดยโรคและยา 3 กลุ่มหลักข้างต้น เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นโรคความรุนแรงไม่มากนัก หากความสำคัญก็คือ เป็นโรคที่พบบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงขอรณรงค์เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง ตามหลักการดังต่อไปนี้

  1. ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย โดยได้รับการสั่งยาจากแพทย์ที่โรงพยาบาล ที่มีเภสัชกรควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้น อย่าซื้อยาฆ่าเชื้อกินเอง
  2. ยาฆ่าเชื้อไม่ใช่เครื่องเขียนและของขวัญ ไม่ต้องแบ่งปันกับผู้ใด ยาไม่ว่าจะชนิดใดๆ ก็ไม่ควรแบ่งกันใช้ ที่สำคัญคือ อย่าแชร์ยาให้ผู้อื่นใช้ แต่ควรแชร์ประสบการณ์จากการใช้ยา และพากันไปพบหมอดีกว่าครับ
  3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะการออกกำลังกาย การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะด้วยซ้ำ หากร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ

 

เชื้อดื้อยา

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

สถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยการทบทวนวรรณกรรมและข้อเสนอแนะ

http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/2529?locale-attribute=th

Addressing the threat of antibiotic resistance in Thailand: monitoring population knowledge and awareness.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/30136664

Operational Actions of the Thailand
Antimicrobial Resistance (AMR)
Containment and Prevention Program in
Response to the World Health Organization
(WHO) Global Action Plan on AMR

https://www.hsri.or.th/sites/default/files/attachment/1_VT_HSRI_AMR_PAPER.pdf

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/07/2020

เขียนโดย นายแพทย์ณัฐพงศ์ เดชธิดา

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

โปรไบโอติก ช่วยให้ลำไส้แปรปรวนดีขึ้น หรือเป็นเพียงความเชื่อผิด ๆ

ยาแก้ปวดและแก้อักเสบ "มีลอกซิแคม" ช่วยอะไรคุณได้บ้าง


เขียนโดย

นายแพทย์ณัฐพงศ์ เดชธิดา

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต


แก้ไขล่าสุด 16/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา