backup og meta

เทคนิคการดูแลตัวเองที่บ้าน สำหรับ ผู้ป่วยเข้าเฝือก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/10/2020

    เทคนิคการดูแลตัวเองที่บ้าน สำหรับ ผู้ป่วยเข้าเฝือก

    เมื่อเกิดอาการกระดูกหัก หรือแขนขาผิดรูป แพทย์ก็มักจะให้ผู้ป่วยได้เข้าเฝือก เพื่อช่วยตรึงไม่ให้บริเวณที่บาดเจ็บนั้นเคลื่อนไหว และช่วยให้บาดแผลฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้น แต่หลายๆ คนอาจจะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ วิธีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเมื่อต้องเข้าเฝือก วันนี้ Hello คุณหมอ เลยจะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับ เทคนิคการดูแลตัวเอง สำหรับ ผู้ป่วยเข้าเฝือก ให้ทุกคนได้รับทราบกันค่ะ

    เทคนิคการดูแลตัวเอง สำหรับ ผู้ป่วยเข้าเฝือก

    อย่าให้เปียก

    เฝือกนั้นควรจะแห้งอยู่เสมอ ควรระมัดระวัง อย่าให้เฝือกเปียกน้ำเป็นอันขาด เนื่องจากหากเฝือกเปียกน้ำ อาจทำเฝือกอ่อนตัวลง และไม่สามารถค้ำกระดูกของคุณได้ดีดังเดิม นอกจากนี้เฝือกก็อาจจะอุ้มน้ำไว้ ทำให้อับชื้น และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือนำไปสู่การติดเชื้อได้

    ในช่วงที่ต้องเช็ดตัว หรืออาบน้ำ ควรหาพลาสติกมาหุ้มเฝือกใช้หลายๆ ชั้น หรือหาซื้อถุงคลุมกันน้ำสำหรับเฝือกโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าระหว่างอาบน้ำหรือเช็ดตัว และพยายามอาบน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหงื่อออกภายใต้เฝือก หากเฝือกเปียกน้ำเล็กน้อย อาจสามารถซับน้ำและเป่าให้แห้งได้ แต่ห้ามใช้ลมร้อน เพราะเฝือกอาจจะเสียหายได้ หากเฝือกเปียกน้ำมาก ควรติดต่อแพทย์เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรงจะดีกว่า

    ดูแลรักษาความสะอาด

    แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการดูแลตัวเองระหว่างใส่เฝือก เพราะหากว่าเราไม่สามารถรักษาความสะอาดของเฝือกได้ดีพอ อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นหนองได้ ควรพยายามระมัดระวัง อย่าให้เศษฝุ่น เศษทราย หรือเศษดินเข้าไปในเฝือก และใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดเฝือก และบริเวณโดยรอบเป็นประจำ

    อย่าเกา

    ในบางครั้งผิวหนังใต้บริเวณที่ใส่เฝือก อาจจะเกิดอาการคันขึ้นมาได้ อย่าพยายามเกา หรือหาอะไรมาแหย่มาเกา เพราะอาจทำให้เฝือกผิดรูปเสียหาย และอาจทำให้เกิดบาดแผลบนผิวหนังได้ ทางที่ดีที่สุดจึงควรอดทนไว้ ไม่เกา แต่หากคันมากจนทนไม่ไหว อาจใช้แอลกอฮอล์หยดลงในเฝือก แล้วใช้พัดลมเป่าให้แห้ง หรือใช้สเปรย์แก้คันตามคำแนะนำของแพทย์แทน

    ฝึกกล้ามเนื้อ

    พยายามลองเกร็งกล้ามเนื้อในบริเวณที่เข้าเฝือกเป็นประจำ และควรพยายามเคลื่อนไหวและขยับข้อต่อในบริเวณที่ใกล้เคียงด้วย เช่น ฝึกกำ-แบนิ้วมือ กระดิกนิ้วมือหรือน้ำเท้า เกร็งกล้ามเนื้อ ยกแขนขาขึ้นลง เพื่อให้กล้ามเนื้อในบริเวณนั้นได้ออกกำลังกายบ้าง

    ยกสูง

    พยายามยกส่วนแขนหรือขาที่เข้าเฝือก ให้อยู่เหนือระดับหัวใจเป็นประจำ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และช่วยลดอาการบวมลงได้ เช่น หากนั่งหรือนอน ก็ให้ใช้หมอนหนุนเสริมในบริเวณที่ใส่เฝือก สำหรับผู้ที่ใส่เฝือกที่แขนก็อาจจะใช้ผ้าคล้องคอ เพื่อยกระดับของเฝือกให้สูงขึ้น ในระหว่างที่ยืนหรือเดินก็ได้เช่นกัน

    อย่าแกะเฝือกออกเอง

    อย่าแคะ แกะ ฉีก หรือตัดเฝือกออกเอง โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์ แม้ว่าจะรู้สึกว่าหายดีแล้วก็ตาม เพราะบาดแผลของคุณอาจจะยังไม่หายสนิท และกระดูกของคุณอาจจะยังไม่สมานตัวดีนัก ทำให้อาจกลายเป็นปัญหาตามมา เช่น กระดูกกลับไปหักอีกครั้ง หรือแขนขาผิดรูปได้

    เมื่อไหร่ถึงควรจะไปพบคุณหมอ

    คุณควรไปพบคุณหมอ เพื่อทำการตรวจเช็กความผิดปกติทันที หากคุณสังเกตเห็นอาการดังต่อไปนี้

    • หากคุณรู้สึกว่ามีอาการปวดมากขึ้น หรือรู้สึกปวดอย่างรุนแรง
    • หากคุณรู้สึกร้อนๆ ในบริเวณที่ใส่เฝือก
    • หากคุณสังเกตเห็นรอยช้ำ หรือสีผิวในบริเวณรอบๆ เฝือกเปลี่ยนสี
    • หากรู้สึกถึงกลิ่นเหม็น มีเลือด หรือมีน้ำหนองมาจากบริเวณที่ใส่เฝือก
    • หากมีอาการบวมอย่าผิดปกติ ในบริเวณที่ใส่เฝือก
    • หากเฝือกร้าว แตก หลุด หรือเสียหาย

    อาการและความผิดปกติเหล่านี้ อาจจะเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ หรือลิ่มเลือด และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้แผลที่ใส่เฝือกฟื้นฟูได้ช้าลง และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้น หากคุณสังเกตเห็นอาการที่กล่าวมาเบื้องต้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการแก้ไขในทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา